การพัฒนาของภาษาไทยกับคอมพิวเตอร์

การใช้งานคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยเรานั้น อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือปัญหา
การใช้งานเรื่องของภาษาไทย ทั้งนี้เนื่องจากเราไม่ได้เป็นผู้ออกแบบสร้างสรรค์ตัว
คอมพิวเตอร์ขึ้นมาเอง แต่เราต้องนำเข้าความรู้วิทยาการจากชาวตะวันตกมาใช้งาน
ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้นย่อมจะไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้ภาษาไทยมาตั้งแต่แรก

ระยะเริ่มแรกของภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์

ปัญหาการใช้งานระบบภาษาไทยในระยะเริ่มแรกจะเป็นปัญหาเชิงฮาร์ดแวร์ เนื่องจาก
การควบคุมการแสดงผลลัพธ์บนจอภาพที่เป็นตัวอักษร หรือที่เรียกกันว่าการแสดงผลแบบ
Text base จะถูกควบคุมจากชิพโดยตรง ชิพเหล่านั้นถูกออกแบบมาให้แสดงผลตัวอักขระ
ตามแบบมาตรฐานจากตะวันตก คือรหัสแบบ 7 bit จาก IBM (EBCDIC) และรหัสแบบ
8 bit (ASCII) ที่ใช้กันเป็นมาตรฐานกว่า EBCDIC โดยที่รหัสเหล่านั้นจะออกแบบให้
เป็นตัวอักขระภาษาอังกฤษ และรหัสที่เป็นส่วนขยายซึ่งอาจจะเป็นตัวอักขระที่ใช้ในการ
ตีตาราง หรือเป็นตัวอักษรที่ใช้ในยุโรปที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ การจะแก้ไขให้คอมพิว
เตอร์เหล่่านั้นทำการประมวลผลภาษาไทยได้จึงจำเป็นจะต้องทำการดัดแปลงชิพที่ควบคุม
การแสดงผลเหล่านั้นเสียใหม่

หากยังจำกันได้ช่วงนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของคอมพิวเตอร์ที่มีการแสดงผลแบบโมโนโครม
หรือจอมอนิเตอร์เขียว ในยุคนี้จะมีผู้ผลิตการ์ดที่แสดงผลเป็นภาษาไทยออกมาแข่งขัน
กันมากมายหลายบริษัท ผู้ที่สามารถออกแบบให้การ์ดมีการแสดงผลภาษาไทยที่มีคุณภาพ
ดีที่สุดและสามารถสนับสนุนซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ โดยไม่ต้องดัดแปลงซอฟต์แวร์
เหล่านั้นได้มากที่สุดย่อมเป็นผู้ที่ควบคุมตลาดของระบบภาษาไทยให้อยู่ในมือ บริษัท
ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการ์ดภาษาไทยตอนนั้นก็คือ ไมโครวิซ, ไออาร์ซี และ
อาร์.แล็บ ในขณะที่มีการแข่งขันเรื่องของการ์ดภาษาไทย ก็มีการนำเสนอมาตรฐานของ
รหัสภาษาไทยออกมาหลายระบบ (มากกว่า 20 แบบ) ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องจัด
ตั้งกรรมการวิชาการร่างมาตรฐานรหัสสำหรับอักษรไทย แต่ในที่สุดต่อมาก็เหลือเพียงรหัส
เกษตร (หลายแบบ) และ รหัสสมอ. (หลายแบบ) เท่านั้น

ช่วงเริ่มเปลี่ยนจาก Text สู่ Graphic

ในยุคถัดมาคอมพิวเตอร์เริ่มมีความสามารถในการแสดงผลแบบกราฟฟิค ซึ่งสำหรับเครื่อง
พีซีก็มีการ์ดแสดงผลแบบเฮอร์คิวลิสที่สามารถจะทำให้มอนิเตอร์แบบจอเขียวแสดงผลแบบ
กราฟฟิคได้ และเริ่มมีมาตรฐานจอภาพแบบ CGA และ EGA เข้ามา ในขณะที่เครื่องตระกูล
แอปเปิลคือแมคอินทอชก็เริ่มเข้าสู่ระบบอินเทอร์เฟสแบบกราฟฟิค (GUI) เต็มตัว
ในยุคนี้เนื่องจากความสามารถของการแสดงผลแบบกราฟฟิค และความเร็วที่สูงขึ้นของ
เครื่องคอมพิวเตอร์ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาความสามารถของฮาร์ดแวร์ในการแสดงผล
เป็นภาษาไทย จึงได้มีผู้คิดซอฟต์แวร์ไดร์เวอร์ภาษาไทย ให้สามารถแสดงผลภาษาไทยใน
ลักษณะของกราฟฟิคโหมดได้ โดยที่ไม่ต้องยึดติดกับการ์ดภาษาไทยจากค่ายใดๆ ไดรเวอร์
ภาษาไทยที่มีออกมาในตอนนั้นก็คือ ไทยทิพย์ และ vthai นอกจากนั้นก็ยังมีผู้พัฒนา
แอพพลิเคชั่นภาษาไทยที่มีการแสดงผลแบบกราฟฟิคโหมดโดยไม่ต้องอาศัยฮาร์ดแวร์เช่นกัน
ซึ่งก็คือ จุฬาเวิร์ด ไทยแบนเนอร์ หรือซอฟต์แวร์อื่นๆ ซอฟต์แวร์เหล่านี้สามารถใช้
รูทีนเล็กๆที่ใช้ในการแสดงอักขระภาษาไทยและรับข้อมูลเข้าเป็นภาษาไทยได้

ด้วยแนวความคิดที่จะสร้างระบบภาษาไทยแบบมาตรฐานขึ้นมา ทางห้องปฏิบัติการวิจัยไมโคร
คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ทำการพัฒนาระบบมาตรฐานภาษาไทยระดับแก่น
(Thai Kernel System : TKS) ขึ้นมา โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากการที่สามารถจัดการให้
คอมพิวเตอร์สามารถแสดงผลภาษาไทยแบบกราฟฟิคได้นี้ ทำให้สามารถจะออกแบบและพัฒนา
ระบบภาษาไทยโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับการ์ดภาษาไทย

และต่อมาก็ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้กันมาตรฐานในสำนักงานทั่วไป เช่นเวิร์ด
สเปรตชีต เป็นต้น โดยใช้ API จาก TKS แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ถูกเรียกว่า เบญจรงค์
จากแนวความคิดของ TKS และ เบญจรงค์ นี้น่าจะทำให้คนไทยได้มีแอพพลิเคชั่นมาตรฐาน
ที่เป็นภาษาไทยไว้ใช้งาน รวมทั้งสามารถสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ไทยต่อไปได้ แต่ทั้ง TKS และ เบญจรงค์ ก็ถือว่าประสบความล้มเหลวในเรื่องของการ
ขยายฐานผู้ใช้ ทั้งนี้เนื่องจากจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่สำคัญครั้งถัดมา

ช่วง GUI/Multitasking Operating system - Windows

ในปี 1974 ช่วงนั้นยังถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของดอส และนั่นก็ทำรายได้จำนวนมากให้
บริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติอเมริกัน "ไมโครซอฟต์" ด้วย แต่แล้วด้วยนโยบายของ IBM
ที่ต้องการกำจัดเครื่องไอบีเอ็มพีซีโคลนในตอนนั้น ทำให้ไอบีเอ็มได้พยายามพัฒนา
เทคโนโลยีใหม่ออกมา ซึ่งเทคโนโลยีที่ว่าก็ประกอบไปด้วยสองส่วนคือ ฮาร์ดแวร์และ
ซอฟต์แวร์ ส่วนของฮาร์ดแวร์ ทางไอบีเอ็มได้ออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่คือ ไมโครแชนแนล
และใช้ชิปรุ่นใหม่ล่าสุดจากอินเทลคือ 80386 ฮาร์ดแวร์นี้ก็คือ PS/2 ส่วน "หมัดเด็ด"
จังหวะสองของไอบีเอ็มก็คือการร่วมพัฒนา OS/2 กับทางไมโครซอฟต์ OS/2 จะเป็นระบบ
ปฏิบัติการแบบมัลติทาสกิ้งที่มีอินเทอร์เฟสแบบกราฟฟิคเช่นเดียวกับ ระบบปฏิบัติการ
ของแมคอินทอช

ด้วยเทคโนโลยีทั้งสองของไอบีเอ็มจะทำให้การทำโคลนนิงหรือการเลียนแบบเทคโนโลยี
จะไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ทุกคนจะต้องเปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มใหม่จากไอบีเอ็ม
นี่ถือว่าเป็นแนวทางที่เยี่ยมยอด ในการกำจัดเครื่องไอบีเอ็มพีซีโคลนออกไปจากตลาด

แต่แล้วด้วยความเชื่องช้าของไอบีเอ็มที่ไม่กล้าปล่อย PS/2 พีซีออกมาเนื่องจากกลัวจะ
ไปแย่งตลาดมินิคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มเอง (เนื่องจาก PS/2 จะมีศักยภาพที่สามารถ
แข่งขันกับมินิคอมพิวเตอร์ได้ แต่ในราคาที่ถูกกว่า) รวมทั้งความเทอะทะของระบบ
ปฏิบัติการ OS/2 ไมโครซอฟต์จึงได้แยกตัวออกมาทำระบบปฏิบัติการ GUI ของตัวเอง
ซึ่งมีขนาดกระทัดรัดกว่าที่มีชื่อว่า WINDOWS (วินโดวส์) ออกมาแทน

และแล้วในที่สุดทิศทางของคอมพิวเตอร์ก็เปลี่ยนแปลง คอมแพคทนรอกำหนดการวางตลาด
ของ 386 ไม่ได้จึงต้องพัฒนาคอมพิวเตอร์ของตนเองขึ้นมาโดยใช้สถาปัตยกรรมใหม่แต่ก็ยัง
คงเข้ากันได้กับสถาปัตยกรรมแบบเดิม ไมโครซอฟต์ก็ได้วางตลาดวินโดวส์ออกมา นี่ถือเป็น
ครั้งแรกที่ผู้ใช้งานพีซีสามารถจะใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ อย่างสะดวกง่ายดายแบบเดียว
กับแมคอินทอชจากค่ายแอปเปิลได้ จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นอำนาจจากยักษ์ใหญ่่ไอบีเอ็ม
ก็ถูกถ่ายโอนเปลี่ยนมือไปสู่ยักษ์รุ่นใหม่ 3 ตน ก็คือ อินเทล ไมโครซอฟต์ และ คอมแพค
และในระยะหลังก็มีเพียงไมโครซอฟต์และอินเทลเท่านั้น ที่สามารถกำหนดทิศทางของ
อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ได้จนมีผู้เปรียบเปรยว่านี่เป็นแพลตฟอร์ม วินเทล (WINTEL)

และเมื่อวินโดวส์เข้ามาถึงเมืองไทยแล้ว ก็ได้มีผู้พยายามพัฒนาระบบภาษาไทยขึ้นบน
แพลตฟอร์มใหม่นี้ ไดรเวอร์นั้นก็คือ ThaiWin ซึ่งเป็นฝีมือของคุณภาณุทัต เตชะเสน
จากบริษัท 315 แอพพลิเคชั่นบนวินโดวส์ก็ทยอยออกมาเรื่อยๆ บริษัทใหญ่ๆก็ย้ายไป
พัฒนาซอฟต์แวร์บนวินโดวส์กันเป็นทิวแถว ไดร์เวอร์ภาษาไทยบนวินโดวส์ก็เริ่มออก
มาหลายค่าย

ในท้ายที่สุดบริษัท IRC ก็ได้ร่วมมือกับไมโครซอฟท์พัฒนาระบบวินโดวส์ไทยเอดิชั่นออก
มา และนั่นก็คือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของไดรเวอร์ภาษาไทยบนวินโดวส์จากค่ายอื่นๆด้วย

ปัจจุบันไมโครซอฟท์เป็นผู้พัฒนาระบบภาษาไทยให้กับวินโดวส์เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น
ไม่ได้มีบริษัทสัญชาติไทยบริษัทไหนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่ก็มีบริษัท Thai
solution master ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติไทยที่ยังคงผลิตไดรเวอร์ออกมา
บนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (ล่าสุดพึ่งประกาศ release ระบบภาษาไทยบน NT)

อนาคต อินเทอร์เนต เอกสารหลากภาษา และ มาตรฐานรหัสหนึ่งเดียวทั่วโลก

ปัจจุบันเครือข่ายอินเทอร์เนตมีบทบาทสูงที่สุด และเป็นแพลตฟอร์มที่บริษัท
คอมพิวเตอร์หลายบริษัทต้องการเข้าไปมีบทบาท จนในปัจจุบันเราก็รู้ว่ามีเพียง
สองค่ายเท่านั้นที่มีบทบาทสูงที่สุด ก็คือเนตสเคป กับ ไมโครซอฟต์ และก็น่าเชื่อ
ว่าการสัประยุทธระหว่างค่ายทั้งสองยังคงมีต่อไปอีกนาน

การแพร่หลายของอินเทอร์เนตทำให้ความต้องการที่จะใช้งานเอกสารหลากภาษา
มีสูงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้งานมีอยู่ทั่วโลกและไม่ต้องการจะอ่านเอกสารได้เป็นภาษา
อังกฤษเพียงอย่างเดียว และรหัส ASCII แบบ 8 บิตที่ใช้กันอยู่ก็ไม่เพียงพอต่อการ
ใช้งานกับภาษาในโลก เพียงแค่ตัวอักษรภาพภาษาจีนที่ใช้กันอยู่เกือบหมื่นตัวอักษร
ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการเสียแล้ว จึงได้มีความพยายามในการร่างรหัสมาตรฐานหนึ่ง
เดียวทั่วโลก (UNICODE) ขึ้น ซึ่งในปัจจุบันก็ได้ออกมาเป็น release 2.0 แล้ว รหัส
UNICODE จะมีการเข้ารหัสแบบ 2 ไบต์ หรือ 16 บิต สามารถบรรจุตัวอักษรได้
65536 (16x16x16x16) ตัวอักษร เพียงพอต่อการใช้งานสำหรับตัวอักขระของ
ทุกภาษาในโลก และรวมทั้งตัวอักขระแบบแปลกๆที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปด้วย

ด้วยประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนของ UNICODE ทำให้เป็นที่น่าเชื่อว่า มาตรฐาน
UNICODE น่าจะเป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายต่อไปในอนาคต และเมื่อนั้น
เราคงสามารถจะอ่านเอกสารอิเลคโทรนิคส์ที่มีทั้ง ภาษาไทย จีน อังกฤษ ญี่ปุ่น อารบิค
และภาษาอื่นๆ พร้อมกันได้



HTML developed by Kaiwal Development Team (kaiwal@geocities.com)