การเขียนโปรแกรมบนลีนุกซ์

หลายคนอาจจะมีความรู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมบนลีนุกซ์เป็นเรื่องยุ่งยาก และลำบากในการเรียนรู้ ทั้งนี้เนื่องจากลีนุกซ์เป็นระบบที่ถูกพัฒนามาจากระบบยูนิกซ์ซึ่งก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ภาษาคู่บารมีของระบบปฏิบัติการตระกูลยูนิกซ์ก็คือ ภาษาซีนั่นเอง
ภาษาซีเป็นภาษาที่บางคนเรียกว่าภาษาระดับกลาง คือไม่เป็นภาษาระดับต่ำแบบแอสเซมบลีหรือเป็นภาษาสูงแบบ เบสิค โคบอล ฟอร์แทรน หรือ ปาสคาล เนื่องจากคุณสามารถจะจัดการเกี่ยวกับเรื่องของพอยน์เตอร์ได้อย่างอิสระ และบางทีคุณก็สามารถควบคุมฮาร์ดแวร์ผ่านทางภาษาซี ได้ราวกับคุณเขียนมันด้วยภาษาแอสเซมบลี ด้วยข้อดีเหล่านี้เองทำให้โปรแกรมที่ถูกเขียนด้วยภาษาซีมีความเร็วในการปฏิบัติงานสูงกว่าภาษาทั่วๆไป แต่ก็ต้องแลกกับการเรียนรู้และการฝึกฝนอย่างหนัก

ภาษาโปรแกรมที่ลีนุกซ์สนับสนุน

มีผู้คาดการณ์ว่าการเกิดขึ้นมาของภาษาสูงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นมาของ คอมโพเน้นท์แวร์ เช่นพวกวิชวลเบสิค เดลไฟ จะทำให้การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาซี ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่ถ้าคุณลองสังเกตุดูคุณจะเห็นว่าภาษาซีก็ยังถูกใช้เป็นภาษาหลักในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ต่อไป ระบบปฏิบัติการต่างๆ คอมไพเลอร์ หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นทูลต่างๆก็ยังคงถูกเขียนด้วยภาษาซี นอกจากนี้ภาษาซีก็ยังมีวิวัฒนาการออกไปเรื่อยๆ เช่นมีการเพิ่มเรื่องของ OOP (Opject Oriented Programming :ออปเจ็คโอเรียนเต็ดโปรแกรมมิง หรือการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ) ภาษาซีก็ถูกพัฒนาต่อไปเป็นภาษาซีพลัสพลัส (C++) ซึ่งก็คงความสามารถของภาษาซีได้อย่างครบถ้วน แม้แต่ภาษาใหม่ที่มาแรงในปัจจุบัน คือ จาวา (Java) ก็กล่าวกันว่าเป็นภาษาที่แปลงรูปแบบมาจากซีพลัสพลัสอีกที และแน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็น ซี, ซีพลัสพลัส หรือจาวา คุณก็สามารถจะพัฒนาโปรแกรมโดยใช้ภาษาเหล่านี้บนลีนุกซ์ได้

โชคดีที่คุณไม่จำเป็นจะต้องเขียนภาษาซีอยู่เพียงภาษาเดียวบนระบบลีนุกซ์ / ยูนิกซ์ คุณสามารถเขียนโปรแกรมด้วยเครื่องมือที่ง่ายกว่านั้น นั่นก็คือ การใช้เชลล์สคริปต์ ซึ่งบางคนอาจจะเห็นว่ามันมีลักษณะคล้ายกับการเขียนแบตช์ไฟล์บนดอส แต่ในความเป็นจริงแล้วเชลล์สคริปต์มีพลังมากกว่าแบตช์ไฟล์มาก

ต่อมามีผู้พัฒนาภาษา Perl (เพอร์ล) ขึ้นมาซึ่งก็มีการรวมเอาความง่ายของการเขียนเชลล์สคริปต์เข้ากับพลังของภาษาซี คุณจะเห็นว่าคุณสามารถเขียนแอพพลิเคชั่นที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยการใช้เพอร์ล เคยมีผู้เขียนเวปเซอร์ฟเวอร์เล็กๆด้วยการใช้เพอร์ล นอกจากนี้เพอร์ลก็ยังถูกนิยมใช้เขียนเป็นส่วนของ CGI เพื่อทำการเชื่อมระหว่างระบบฐานข้อมูลและเวปอีกด้วย

หากคุณสนใจการเขียนโปรแกรมบนระบบ GUI เช่น X window แต่ไม่ต้องการเขียนด้วยภาษา C ซึ่งโดยปกติก็ยากอยู่แล้ว การเขียนบนระบบ X ยิ่งถือว่ายากขึ้นเป็นทวีคูณ เนื่องจากคุณจะต้องมาเรียนรู้เรื่องคอนเซปต์ของ X ด้วย คุณมีทางเลือกโดยการใช้ Tcl/Tk (อ่านว่าทิคเคิ่ล-ทีเค บางคนเรียก ทีซีแอล-ทีเค) การเขียนโปรแกรมด้วยเครื่องมือนี้จะง่ายแบบเดียวกับการเขียนด้วยเชลล์สคริปต์ ทำให้คุณสามารถเขียนแอพพลิเคชั่นบน X ได้อย่างรวดเร็ว

การพัฒนาโปรแกรมโดยใช้ wpe/xwpe

สำหรับคุณที่ไม่ชอบการเขียนโปรแกรมแล้วต้องมาคอมไพล์โดยสั่งจากคอมมานด์ไลน์ ขอให้
คุณลองเรียกโปรแกรมต่อไปนี้ดู wpe หรือ xwpe
[รูป<WBR>ของ xwpe]
ถ้าคุณเคยใช้เครื่องมือการพัฒนาซอฟต์แวร์จากค่ายบอร์แลนด์มาก่อน เช่น Turbo Pascal , Turbo Basic หรือ Turbo C/C++ คุณจะเห็นว่า wpe/xwpe มีรูปร่างหน้าตาและการใช้งานที่คล้ายคลึงกันเลยทีเดียว คุณจะสามารถเซตให้มี break point เพื่อทำการดีบักโปรแกรมได้ หรือการเซตสภาพแวดล้อมของ เอดิเตอร์, คอมไพเลอร์ จะทำได้โดยง่าย นอกจากนี้ wpe/xwpe ไม่ได้มีไว้สำหรับทำการพัฒนาด้วยภาษาซีเพียงอย่างเดียว คุณอาจจะใช้มันเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาด้วย ภาษาปาสคาล หรือ ฟอร์แทรนก็ได้

vbix - visual basic on Linux

ถ้าคุณต้องการจะเขียนโปรแกรมแบบคอมโพเน้นท์แวร์เช่น Visual Basic แล้ว ขอแนะนำให้คุณใช้ vbix (www.vbix.com) ซึ่งจะมีรูปแบบการใช้งานและการเขียนโปรแกรมที่คล้ายคลึงกับ visual basic

ภาษาอื่นๆ

นอกจากภาษาที่ได้กล่าวถึงไปข้างบนแล้ว ลีนุกซ์ยังสนับสนุนการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาอื่นๆอีกเช่น ภาษาฟอร์แทรน, ภาษา Lisp (xliststat), ภาษาเบสิค หรือถ้าหากคุณถนัดการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาแบบ xbase เช่น dBase, Foxpro, Clipper คุณก็สามารถใช้ flagship มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาโปรแกรมของคุณได้


HTML developed by Kaiwal Development Team (kaiwal@geocities.com)