Linux and Networking

การพัฒนาเนตเวอร์กบนลีนุกซ์

เนื่องจากลีนุกซ์เป็นโอเอสที่เกิดมาจากเนตเวอร์กระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นที่แปลกใจที่จะมีการนำเอาความสามารถทางด้านเนตเวอร์กไปใส่ ให้กับลีนุกซ์ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการพัฒนา ในช่วงแรกจะเป็นการพัฒนา UUCP และต่อมาก็เริ่มมีการพัฒนา TCP/IP ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1992 โดย Ross Biro และทีมงาน ซึ่งจะรู้จักกันในนามของ Net-1

ต่อมาเมื่อ Ross ได้ถอนตัวจากการพัฒนาเมื่อเดือนพฤษภาคม 1993 , Fred van Kempen ก็ได้ทำการเริ่มเขียนโค้ดขึ้นมาใหม่ (Net-2) สำหรับการเผยแพร่สู่สาธารณะครั้งแรกในชื่อของ Net-2d อยู่ในราวช่วงฤดูร้อนปี 1993 (เผยแพร่ไปพร้อมกับ kernel เวอร์ชั่น 0.99.10) และหลังจากนั้นก็ได้มีการร่วมทำการพัฒนาจากนัก พัฒนาอีกหลายๆคน ที่สำคัญคือโดย Alan Cox ได้ทำ Net-2Debugged

หลังจากการตรวจสอบข้อผิดพลาดอย่างหนัก รวมทั้งการปรับปรุงโค้ดจำนวนมาก ก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น Net-3 ภายหลังที่ Linux 1.0 ได้ถูกเผยแพร่ออกไป Net-3 เป็นโค้ดที่ใช้งานอยู่กับเคอร์เนลที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการในปัจจุบัน

Net-3 มี device driver ที่สามารถใช้งานได้กับบอร์ดแบบ Ethernet หลายชนิดนอกจากนั้นก็ยังสามารถทำงานได้กับ SLIP (สำหรับส่งข้อมูลของเนตเวอร์กผ่านทาง Serial line) และ PLIP (สำหรับ Parallel line) Net-3 สามารถใช้งานได้ดีกับ Local Area Network ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพของมันสามารถเอาชนะ ยูนิกซ์บนพีซีเชิงพาณิชย์บางตัวได้ การพัฒนาในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพ เพื่อสามารถใช้งานมันเป็น Internet host ได้อย่างน่าเชื่อถือ

นอกจาก features เหล่านี้ก็ได้มีโครงการหลายโครงการ ที่จะเพิ่มความหลากหลายให้กับความสามารถทางด้านเนตเวอร์กของลีนุกซ์ ตัวอย่างเช่น driver สำหรับ PPP (the point-to-point protocol, วิธีการส่งข้อมูลของเนตเวอร์กผ่านทาง Serial line อีกวิธีหนึ่งนอกเหนือจาก Slip) และ AX.25 ซึ่งเป็น driver สำหรับการใช้งานทางด้าน ham radio (เครือข่ายเนตเวอร์กแบบวิทยุ) Alan Cox ยังทำการพัฒนา driver สำหรับ Novell's IPX protocol ด้วย นอกจากนี้ก็ยังมี samba ซึ่งเป็น server NetBIOS ฟรีบนระบบยูนิกซ์ ซึ่งถูกทำการพัฒนาโดย Andrew Tridgell (NetBIOS เป็น protocol ที่ใช้งานกับ application จำพวก lanmanager และตระกูล Windows for Workgroup)

ปัจจุบันโครงการเหล่านี้ได้ถูกทำการพัฒนาให้ใช้งานได้ และทำการเผยแพร่สู่สาธารณะ เรียบร้อยแล้ว : ผู้เรียบเรียง

การติดตั้ง เนตเวอร์กฮาร์ดแวร์

การใช้งานเนตเวอร์ก คุณจำเป็นจะต้องติดตั้งฮาร์ดแวร์ ในการใช้งานเนตเวอร์กระดับ LAN ทั่วไปมักจะต้องใช้พวก Ethernet board คุณจะต้องติดตั้งการ์ดพวกนี้ลงไปในเครื่องของคุณ ตัวอย่างการ์ดหลักๆที่ลีนุกซ์สนับสนุนก็คือ
        Western Digital WD80*3;
        SMC Ultra;
        3com 3c501, 3c503, 3c509, 3c579;
        AT1500 and NE2100 (LANCE and PCnet-ISA);
        Cabletron E21xx;
        DEPCA;
        HP PCLAN;
        NE2000;
        NE1000;
        SK_G16;
        Apricot Xen-II on board ethernet;
        D-Link DE600;
        D-Link DE620;
        AT-LAN-TEC/RealTek pocket adaptor;
        Zenith Z-Note;
        3com 3c505(*), 3c507(*);
        EtherExpress;
        AT1700(*), NI5210(*), NI6510(*);
        Ansel Communications EISA 3200(*).
ให้พิจารณาดูด้วยว่าการ์ดของคุณเป็นการ์ดชนิด EISA หรือแบบ PCI เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เสียบการ์ดของคุณลงในช่องของ EISA หรือ PCI ที่ว่างนั้น อย่าลืมเสียบการ์ดให้ตรงชนิดกับช่องที่คุณจะใส่ลงไปด้วย โดยปกติช่องแบบ EISA จะมีความยาวที่มากกว่าช่องแบบ PCI และมักจะเป็นสีดำ ในขณะที่ PCI มักจะเป็นสีขาว

โดยปกติการ์ดเหล่านี้จะให้มาพร้อมกับไดร์เวอร์ และโปรแกรมสำหรับคอนฟิกการ์ดในกรณีที่เป็นการคอนฟิกผ่านซอฟต์แวร์ไม่ได้เป็นแบบใช้จัมเปอร์ ซึ่งซอฟต์แวร์เหล่านั้นมักจะต้องรันบน DOS ให้ลองทดสอบการ์ดของคุณผ่านซอฟต์แวร์เหล่านั้นดู และคุณอาจจะต้องพึ่งซอฟต์แวร์เหล่านั้นในกรณีที่จะต้องมีการปรับแต่งคอนฟิกของการ์ด แต่หากการ์ดคุณจะต้องคอนฟิกโดยการใช้จัมเปอร์ คุณจะต้องพึ่งคู่มือของคุณในการที่จะปรับแต่งใดๆ

ในเครื่อง PC เวลามีการส่งผ่านการสื่อสารข้อมูล มักจะกระทำผ่านเนื้อที่หน่วยความจำในส่วนของ I/O ซึ่งจะถูก map เข้ากับ รีจิสเตอร์บนบอร์ด หรืออื่นๆที่คล้ายกัน เคอร์เนลของลีนุกซ์ ก็จะทำการส่งข้อมูลผ่านทางรีจิสเตอร์เหล่านี้ เนื้อที่หน่วยความจำในส่วน I/O (base address) ที่มักจะใช้กันในการ์ด Ethernet เหล่านี้ มักจะเป็น 0x300 หรือ 0x600 โดยปกติคุณไม่จำเป็นจะต้องไปใส่ใจกับ base address เหล่านี้ เพราะเคอร์เนลของลีนุกซ์จะทำการตรวจสอบ base address เหล่านี้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเรียกว่าการทำ autoprobing

นอกจาก base address แล้วยังมีสิ่งที่ต้องสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็คือ interrupt request channel ซึ่งฮาร์ดแวร์จะใช้ช่องทางเหล่านี้ในการทำการ "ขัดจังหวะ" เคอร์เนล เมื่อมันต้องการบริการจากเคอร์เนล ตัวอย่างเช่น เมื่อมีข้อมูลมาถึง หรือมีเหตุการณ์พิเศษบางอย่างเกิดขึ้น ฮาร์ดแวร์จะทำการขัดจังหวะ ผ่านช่องทางของ interrupt channel หมายเลข 0, 1 และ 3 จนถึง 15 ซึ่งช่องทางเหล่านี้ จะเรียกว่า interrupt request number หรือ IRQ

เคอร์เนลจะรู้จักการ์ดเหล่านี้ผ่านทาง ชื่อที่กำหนดไว้ภายในเคอร์เนล และไม่ได้อยู่ในไดเรกทอรี /dev ปกติถ้าเป็น การ์ด Ethernet จะมีชื่อเป็น eth0, eth1, ... eth0 จะเป็นการ์ดตัวแรก , eth1 จะเป็นการ์ดตัวถัดไป และต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อทำการบูตแล้วหากทำการติดตั้งเนตเวอร์กการ์ด ได้ถูกต้องลีนุกซ์จะแสดงข้อมูลของเนตเวอร์กโปรโตคอล และเนตเวอร์กการ์ดขึ้นมาให้ ถ้าหากดูไม่ทันให้ใช้คำสั่ง dmesg เพื่อแสดงข้อมูลเหล่านี้ออกมาภายหลัง
ตัวอย่าง
Swansea University Computer Society NET3.035 for Linux 2.0
NET3: Unix domain sockets 0.13 for Linux NET3.035.
Swansea University Computer Society TCP/IP for NET3.034
IP Protocols: ICMP, UDP, TCP

.
.
.

IPX Portions Copyright (c) 1995 Caldera, Inc.
Appletalk 0.17 for Linux NET3.035
3c503.c: Presently autoprobing (not recommended) for a single card.
loading device 'eth0'...
3c503.c:v1.10 9/23/93  Donald Becker (becker@cesdis.gsfc.nasa.gov)
eth0: 3c503 at i/o base 0x300, node  02 60 8c af 87 18, using internal xcvr.
eth0: 3c503/16 - 16kB RAM, 8kB shared mem window at 0xd8000-0xd9fff.

การคอมไพล์เคอร์เนล ให้สนับสนุนเรื่องของเนตเวอร์ก

คุณจะต้องทำการเซตอัพเคอร์เนลของคุณ ให้ทำการสนับสนุนบอร์ดที่ต้องการรวมทั้งประเภทเนตเวอร์กชนิดต่างๆด้วย โดยคุณจะต้องทำการคอมไพล์เคอร์เนลใหม่ ่สำหรับการทำการเซตอัพเคอร์เนลในเวอร์ชั่นตั้งแต่ 2.0 ขึ้นไป จะมีรูปแบบที่ง่ายขึ้นโดยมีเมนูมาให้เลือก การเซตอัพที่ต้องการเกี่ยวกับเรื่องของเนตเวอร์ก คุณจะต้องทำการเซตอัพสองหัวข้อ คือเรื่องของการ์ดที่สนับสนุน และเรื่องของชนิดของเนตเวอร์กที่ทำการสนับสนุน ซึ่งถ้าหากเลือก TCP/IP จะมีหัวข้อย่อย เช่นเรื่องของ IP Masquerate, IP forwarding เป็นต้น (หากจะเซตอัพให้ลีนุกซ์เป็นเกตเวย์ จะต้องเลือกหัวข้อ IP forwarding)
ให้เข้าไปในไดเรกทอรี /usr/src/linux แล้วเรียก make xconfig (สำหรับ Linux version ที่ต่ำกว่า 2.0 ให้เรียก make config แล้วเลือกตอบตามหัวข้อต่างๆ)


รูปแสดงการเลือกเซตอัพส่วนของเนตเวอร์ก


รูปแสดงการเลือกเซตอัพส่วนของฮาร์ดแวร์


ในกรณีนี้หากยังไม่เข้าใจเรื่องของการทำเคอร์เนลแบบโมดูล [m] ให้ทำการเลือกรวมส่วนเหล่านั้นเข้าไปในเคอร์เนลเลย [y] จะอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของเคอร์เนลโดยละเอียดในเอกสารอื่นอีกครั้ง

หลังจากทำการเลือกเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ ทำการ save และออกจากโปรแกรม และทำการสั่ง
make dep; make clean เพื่อทำการตรวจสอบไฟล์ที่จะให้คอมไพล์เคอร์เนลต่างๆ รอสักพักเมื่อระบบจัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการสั่งเริ่มต้นคอมไพล์เคอร์เนล
make zImage ขั้นตอนนี้จะเริ่มทำการคอมไพล์เคอร์เนลใหม่ทั้งหมดซึ่งอาจจะต้องรอนานสักนิด ช่วงนี้ คุณอาจจะลุกไปชงกาแฟ ทานสักพักก็ได้ เมื่อคอมไพล์เคอร์เนลเสร็จเรียบร้อยแล้ว โปรแกรม make จะบอกว่า ตัวของ zImage จะอยู่ในไดเรกทอรี /usr/src/linux/arch/i386/boot ให้นำเอา zImage จากไดเรกทอรีนี้ไปใส่ไว้ใน /boot (เวอร์ชั่นเก่าจะใส่ไว้ที่ root / ) จากนั้นก็อาจจะเปลี่ยนชื่อเป็น vmlinuz หรือตามชื่อที่อยู่ใน /etc/lilo.conf (อย่าลืมเก็บเคอร์เนลตัวเก่าของคุณไว้ด้วย) แล้วใช้คำสั่ง /sbin/lilo เพื่อให้บูตโหลดเดอร์อ่านคอนฟิกใหม่ของเรา เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ให้บูตเครื่องใหม่พร้อมทั้งตรวจสอบดูว่าลีนุกซ์รับรู้เนตเวอร์กการ์ดใหม่ของเรา รวมทั้งชนิดของเนตเวอร์กที่ต้องการ
ทดลองใช้คำสั่ง
netstat -rn เครื่องจะแสดงผลเกี่ยวกับค่าของเนตเวอร์กออกมา ให้สังเกตส่วนคอลัมน์ Iface จะเห็นว่า มีดีไวซ์ eth0 แสดงว่าลีนุกซ์รับรู้เนตเวอร์กการ์ดแล้ว

Destination     Gateway         Genmask         Flags   MSS Window  irtt Iface
129.103.0.0     0.0.0.0         255.255.0.0     U      1500 0          0 eth0
127.0.0.0       0.0.0.0         255.0.0.0       U      3584 0          0 lo

สายสัญญาณที่ใช้ในการส่งข้อมูล

  1. สายคู่ตีเกลียว (twisted pair)
  2. สายคู่ตีเกลียวเป็น สายที่มีฉนวน 2 เส้นนำมาทำการตีเกลียวอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะทางของสาย ปกติจะใช้กันมากในระบบโทรศัพท์ สายที่ลากจากชุมสายมายังบ้านจะเป็นสายคู่ตีเกลียว สายแบบนี้สามารถนำสัญญาณได้หลายกิโลเมตร โดยไม่ต้องมีการขยายสัญญาณ แต่ถ้ายาวกว่านี้มากๆจำเป็นจะต้องมีการขยายสัญญาณ สายคู่แบบมีเกลียวสามารถเดินไปด้วยกันหลายๆคู่เป็นมัดๆได้แล้วหุ้มด้วยฉนวนภายนอกอีกชั้นหนึ่ง การตีเกลียวจะช่วยลดสัญญาณรบกวนระหว่างคู่ที่เกิดขึ้นสายคู่แบบตีเกลียวสามารถใช้ได้กับทั้งระบบอนาล็อก และดิจิตอล ขึ้นอยู่กับขนาดและความยาว ความหนาของสาย ขนาดความเร็วในระดับเมกกะบิทต่อวินาทีก็สามารถทำได้แต่เป็นในระยะทางสั้นๆเท่านั้น เนื่องจากมีราคาถูกและประสิทธิภาพพอใช้จึงทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมาก สายสัญญาณแบบนี้รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า 10base-T
  3. สายโคแอกเซียล (Coaxial Cable)
  4. สายโคแอกเซียล หรือเรียกสั้นๆว่าสายโคแอก แบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามที่มีการใช้กันอย่าง แพร่หลายคือสายแบบหนา (Thick Ethernet) และสายแบบบาง (Thin Ethernet) สายโคแอกจะประกอบด้วยลวดทองแดงอยู่ตรงกลางหุ้มด้วยฉนวนพลาสติก 1 ชิ้น แล้วจึงหุ้ม ด้วยทองแดงที่ถักเป็นผืน แล้วหุ้มภายนอกอีกชั้นหนึ่งด้วยฉนวนโครงสร้างของสายโคแอก สามารถทำให้ส่งข้อมูลมีความเร็วได้ถึง 10 Mbps ระยะทางสูงสุดคือ 200 และ 500 เมตรและมักจะเรียกกันอีกชื่อว่า 10base-2 และ 10base-5
    วิธีการต่อสายโคแอกสามารถทำได้ 2 แบบคือใช้ทีจังชั่น (T-juction) และแวมไพร์แทป (vampire tap) วิธีทีจังชั่นคือตัดสายออกใส่คอนเนคเตอร์ชนิด BNC ที่ปลายสายแล้วนำมา สวมกับทีจังชั่นนำสัญญาณไปใช้ทางด้านที่สามวิธีนี้มักจะใช้กับ Thin Ethernet แต่ถ้าใช้วิธีแวมไพร์แทป จะต้องไม่ตัดสายเพียงแต่เจาะรูตรงกลางและใส่คอนเนคเตอร์แบบพิเศษ ที่เรียกว่าแวมไพร์แทปเข้าไป ซึ่งก็จะทำหน้าที่คล้ายกับทีจังชั่น เพียงแต่ไม่ต้องตัดสายออกเป็นสองเส้น วิธีนี้มักจะใช้กับสายแบบ Thick Ethernet
นอกจากสายสัญญาณทั้งสองแบบนี้แล้ว ยังมีสายสัญญาณประเภทอื่นอีก เส้นใยแก้วนำแสง (Fiber obtics) เป็นต้น โดยปกติแล้วในระบบ LAN ทั่วไปใช้สายสัญญาณสองแบบข้างต้นดังกล่าวก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
ถ้าหากคุณใช้สายแบบสายคู่ตีเกลียว คุณอาจจะซื้อสายที่มีการเข้าหัวต่อให้เรียบร้อยแล้วหรืออาจจะทำการเข้าหัวต่อเองก็ได้ ซึ่งจะต้องมีเครื่องสำหรับการเข้าหัวต่อโดยเฉพาะ โดยปกติสายแบบนี้มักจะต้องใช้คู่กับฮัป (HUP) แต่ถ้าคุณใช้สายแบบสายโคแอก นอกจาก คุณจะต้องทำการต่อแบบทีจังชั่นแล้วคุณยังจะต้องหา ตัวกลืนสัญญาณ (Terminator) มาปิดระหว่างหัวท้ายของสายสัญญาณเส้นนั้นด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการสะท้อนของสัญญาณขึ้น หากคุณใช้สายสัญญาณแบบนี้คุณอาจจะใช้ฮัปหรือไม่ก็ได้

หากคุณมีรูปของ อีเทอร์เนตการ์ด, สายแบบสายคู่ตีเกลียว, สายแบบโคแอก, ฮัป ที่แสดงถึงการเชื่อมต่อของคอนเนกเตอร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่สแกนลงในคอมพิวเตอร์แล้ว หากต้องการเผยแพร่ให้ผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้ กรุณาส่งรูปมาได้ ที่นี่
เราจะนำรูปของคุณมาประกอบบทความนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น

การเชื่อมต่อลีนุกซ์เข้ากับโฮสต์ของ ISP โดยผ่านสายโทรศัพท์

protocol แบบ serial line มีอยู่สองแบบคือ SLIP และ PPP ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถทำการติดต่ออินเทอร์เนต ผ่านโมเด็มและสายโทรศัพท์ได้เมื่อคุณจะทำการใช้ SLIP หรือ PPP คุณจะต้องทำการเซตอัพข้อมูลบางอย่างซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เพื่อการติดต่อกับอินเทอร์เนตเสียก่อน อย่างแรกคือคุณจะต้องการหมายเลขของ DNS เพื่อที่จะใช้แปลงค่าจากชื่อที่เป็นตัวอักษรให้เป็นตัวเลข ให้ใส่ค่าหมายเลขของ DNS ไว้ที่ไฟล์ /etc/resolv.conf ตัวอย่าง
nameserver 202.6.100.1 เมื่อพิมพ์บรรทัดนี้เข้าไปในไฟล์ resolv.conf ลีนุกซ์จะรับรู้ DNS จาก KSC internet คุณสามารถใส่หมายเลขของ DNS เข้าไปมากกว่าหนึ่งหมายเลขได้

การใช้งาน SLIP ที่ง่ายที่สุดคือการใช้งานผ่านทางโปรแกรม dip โปรแกรม dip นี้ เราสามารถสั่งผ่านทาง command line ได้ (สำหรับลีนุกซ์บาง distribution อาจจะต้องใช้ permission ของ root เสียก่อน)


คุณสามารถจะใช้ dip ทำการหมุนโมเด็มเพื่อทำการเชื่อมไปที่ ISP ได้ และเมื่อติดต่อได้แล้ว คุณจะสามารถทำการ login เข้าโฮสต์ของ ISP ได้ตามปกติ ให้ใส่ username และรหัสผ่าน จากนั้นให้เรียกโปรแกรม slirp หรือ slip เพื่อเริ่มทำการเชื่อมต่อ slirp -b 115200 เมื่อเรียกเสร็จแล้ว โปรแกรม slip จะทำการแจ้งค่า local IP address ให้ คุณจะต้องทำการ เก็บค่าของ local IP address นี้ไว้ และค่า IP ของโฮสต์ด้วยจากนั้นให้ทำการการกลับสู่ โปรแกรม dip โดยกดปุ่ม Ctrl-] (หรือปุ่มอื่นๆที่ทาง ISP ได้แจ้งมา) เมื่อกลับสู่โปรแกรม dip แล้วคุณจะต้องแจ้งค่า IP ทั้งสองค่าเพื่อเริ่มทำการเชื่อมต่อ

get $rmtip 202.44.144.1 แจ้งค่า IP ของโฮสต์
get $locip 10.0.2.15 แจ้งค่า local IP ที่โฮสต์กำหนดมาให้
นอกจากสองค่านี้แล้วคุณจะต้องแจ้งค่าของ netmask และค่าของ mtu จากนั้นก็ใช้ คำสั่ง exit ออกจากโปรแกรม dip ได้ ให้ทำการตรวจสอบว่าการเชื่อมต่อโดยใช้ SLIP ทำได้อย่างถูกต้อง โดยใช้คำสั่ง netstat -rn จะเห็น device ของ sl0 และเกตเวย์เป็นหมายเลขของโฮสต์ของ ISP คุณสามารถหาคำสั่งของ dip ที่ต้องการได้โดยการใช้คำสั่ง
man dip คุณสามารถจะทำการใช้สคริปต์ ช่วยให้การใช้งานโปรแกรม DIP ของคุณเป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น ให้ดาวน์โหลดสคริปต์ตัวอย่างจาก ที่นี่ (กดปุ่ม Shift พร้อมกับคลิกเมาส์ปุ่มซ้าย) เมื่อคุณคลี่ไฟล์ออกมาแล้วให้ทำการเปลี่ยนค่าของ หมายเลขโทรศัพท์, DNS (Domain Name Server), rmtip (Remote-IP), และค่าของ locip (Local-IP) ในสคริปต์ (ค่า DNS ต้องไปเปลี่ยนที่ /etc/resolv.conf) ตามที่ได้รับแจ้งจากทางคู่มือหรือเจ้าหน้าที่ของ ISP แล้วทำการใช้งานสคริปต์โดยสั่ง
/sbin/dip <ชื่อของสคริปต์> ตัวอย่าง
/sbin/dip ksc.dip หากต้องการยกเลิกการติดต่อ จะต้องทำการ kill โปรแกรม DIP โดยใช้คำสั่ง
/sbin/dip -k เมื่อคุณทำการเชื่อมต่อลีนุกซ์เข้ากับ โฮสต์ของ ISP แล้ว คุณสามารถจะใช้งานอินเทอร์เนตผ่านทางเครื่องของคุณได้ ไม่ว่าจะใช้ tin, lynx, telnet หรือ ftp และถ้าคุณมีระบบ X window อยู่ คุณอาจจะใช้ Netscape หรือ Arena ทำการบราวซ์ โฮมเพจดูก็ได้
หากลีนุกซ์ของคุณเชื่อมต่อกับ เครื่องอื่นๆในระบบ LAN อยู่ คุณสามารถทำให้เครื่องอื่นๆในระบบ สามารถใช้ลีนุกซ์ตัวนี้ในฐานะของเกตเวย์ เพื่อทำการติดต่ออินเทอร์เนตได้ด้วย แต่คุณจะต้องเซตอัพเคอร์เนลของคุณให้สามารถทำการใช้ IP FORWARDING ได ้เสียก่อน
หากเครื่องอื่นๆในเครือข่ายของคุณเป็น WINDOWS ให้เซตอัพค่า DNS ตามค่าของ ISP และค่า GATEWAY เป็นหมายเลขของลีนุกซ์ (ในที่นี้ตามรูปจะเป็นหมายเลข 128.100.10.254) เครื่องอื่นๆในเครือข่ายคุณจะใช้งานอินเทอร์เนตได้


HTML developed by Kaiwal Development Team (kaiwal@geocities.com)