ทดสอบโปรแกรม Netscape Communicator 4.03

และในที่สุดบริษัทเน็ตสเคปก็พัฒนาโปรแกรมบราวเซอร์ที่เป็นเวอร์ชั่นที่นำไปใช้งานจริง (release version) สำหรับลีนุกซ์ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ประกาศเวอร์ชั่นใช้งานจริงสำหรับบนระบบปฏิบัติการ WINDOWS 95 และ WINDOWS NT ออกมาก่อน สำหรับเวอร์ชั่นใช้งานจริงนี้คุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากโฮมเพจของบริษัทเน็ตสเคป (http://home.netscape.com) และหากคุณรู้สึกว่าการดาวน์โหลดโปรแกรมมาจากโฮมเพจของบริษัทเน็ตสเคปค่อนข้างช้า ก็สามารถไปดาวน์โหลดจาก mirror site อื่นๆของบริษัทเน็ตสเคปได้ คุณจะมีสิทธิในการทดลองใช้งานโปรแกรมคอมมิวนิเคเตอร์ 4.03 นี้ได้ 90 วันและถ้าคุณต้องการจะใช้งานโปรแกรมต่อคุณจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อไลเซนส์และลงทะเบียนกับบริษัทเน็ตสเคป แต่ถ้าคุณนำโปรแกรมไปใช้งานที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องเชิงพาณิชย์แล้วคุณไม่จำเป็นจะต้องซื้อไลเซนส์ก็ได้ เมื่อครบกำหนด 90 วันแล้วคุณจะไม่ถูกบังคับให้ทำการอัพเกรดต่อเหมือนกับในกรณีของโปรแกรมที่เป็นเวอร์ชั่นเบต้า ที่จะบังคับให้เราต้องทำการอัพเกรดหลังจากใช้งานไปแล้ว 90 วันเพราะถือว่าโปรแกรมยังไม่เสถียรและควรจะต้องใช้งานโปรแกรมเบต้าใหม่ที่มีความเสถียรกว่าแทน

[Communicator 4.03]
รูปโปรแกรมเน็ตสเคปคอมมิวนิเคเตอร์ 4.03 กำลังรันแอพเพล็ตจาวาอยู่

สำหรับเวอร์ชั่น 4.03 นี้บริษัทเน็ตสเคปได้กำหนดไว้ว่าเวอร์ชั่นสำหรับยูนิกซ์ซึ่งก็รวมถึงลีนุกซ์ด้วยจะต้องใช้หน่วยความจำขั้นต่ำตั้งแต่ 32 Mbytes ขึ้นไป และระบุหน่วยความจำที่ควรจะใช้งาน (recommended memory) ควรจะเป็น 64 Mbytes ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อด้อยข้อหนึ่งของโปรแกรม เพราะถ้านำไปใช้บน WINDOWS จะสามารถใช้ได้ตั้งแต่ 16-32 Mbytes ซึ่งจะใช้ทรัพยากรของระบบน้อยกว่ามาก

หากคุณลองใช้งานคอมมิวนิเตอร์รุ่นที่สี่บนลีนุกซ์ที่เป็นเวอร์ชั่นเบต้ามาตลอด คุณจะเห็นว่าเวอร์ชั่น 4.03 นี้มีความเสถียรกว่าเวอร์ชั่นเบต้าที่ผ่านมาค่อนข้างมากแต่จากการที่ต้องใช้เนื้อที่หน่วยความจำเป็นจำนวนมาก หากคุณมีจำนวนหน่วยความจำไม่เพียงพอแล้ว การใช้งานโปรแกรมในบางครั้งของคุณอาจมีการชะงักหรือหยุดงานเป็นบางครั้งทั้งนี้เนื่องจากเมื่อหน่วยความจำปกติ (conventional memory) ไม่เพียงพอแล้ว โปรแกรมจะหันไปใช้จากหน่วยความจำสำรองจากพื้นที่สวอป ซึ่งจะทำให้การทำงานช้าลงกว่าเดิมมาก เพราะพื้นที่สวอปซึ่งเป็นเนื้อที่บนฮาร์ดดิสก์จะมีการทำงานที่ช้ากว่าหน่วยความจำที่เป็นไอซี

การใช้งานในด้านอื่นๆรวมทั้งเรื่องของการสนับสนุนแอพเพล็ตจาวา ก็ทำได้ค่อนข้างสมบูรณ์และมีความเร็วกว่าเวอร์ชั่นก่อนๆมาก นอกจากนี้โปรแกรมยังมีการสนับสนุนเรื่องของไดนามิกฟอนท์ที่สามารถส่งฟอนท์ไปกับเวปเพจได้ ทำให้การดูเอกสารที่มีฟอนท์พิเศษขึ้นมาสามารถทำได้ ส่วนเครื่องมือเพิ่มเติมอื่นๆที่มีนอกจากบราวเซอร์แล้ว ก็ยังมี messenger ที่เป็นโปรแกรมสำหรับทำการรับส่งจดหมายอิเลกโทรนิคส์ (มีดิคชันนารีสำหรับตรวจทานศัพท์ระหว่างการแต่งจดหมายอยู่ด้วย) การเก็บข้อมูลของจดหมายจะเก็บเป็นฟอร์แมต HTML และ discussion ที่เป็นโปรแกรมที่ไว้สำหรับทำการอ่านและส่งข่าวบนยูสเน็ตนิวส์กรุ๊ป และ page composer ซึ่งเอาไว้ใช้สำหรับทำการตกแต่งเอกสารแบบเว็ปเพจ นอกจากนี้ก็มีระบบให้ความช่วยเหลือ (help) ที่ค่อนข้างละเอียดและสมบูรณ์

สิ่งที่ขาดไป

สำหรับคอมมิวนิเคชั่น 4.03 บนลีนุกซ์นี้ยังคงมีส่วนประกอบที่ไม่ครบถ้วน เหมือนกับเวอร์ชั่นที่อยู่บนแพลตฟอร์มวินโดวส์ โดยส่วนประกอบที่ขาดหายไปก็คือ

ส่วนประกอบเหล่านี้บางส่วนก็จะมีมาพร้อมกับคอมมิวนิเคเตอร์เลย แต่บางส่วนเราก็ต้องไปทำการค้นหาจากเวปไซต์ของบริษัทเน็ตสเคปเอง สำหรับ Conference ยังไม่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นโปรแกรมสำหรับระบบยูนิกซ์และลีนุกซ์ แต่สำหรับส่วนประกอบอื่นๆมีพัฒนาให้ใช้กับระบบยูนิกซ์บางส่วนบ้างแล้ว คาดว่าคงจะมีเวอร์ชั่นที่ใช้งานสำหรับระบบลีนุกซ์ออกมาในไม่ช้า

การติดตั้งโปรแกรม

เมื่อคุณดาวน์โหลดแพ็คเก็จของคอมมิวนิเคเตอร์มาได้แล้ว (ขนาดของแพ็คเก็จโปรแกรมก่อนการติดตั้งที่ดาวน์โหลดมามีขนาดประมาณ 10 Mbytes) ก็ให้ทำการคลี่แพ็คเก็จออกมาเพื่อที่จะเริ่มทำการติดตั้งโดยสามารถทำได้ดังนี้
$ zcat communicator-v403-export.x86-unknown-linux2.0.tar.gz | tar -xvf -

เมื่อคลี่ออกมาได้แล้วคุณสามารถอ่านรายละเอียดวิธีการติดตั้งได้จากไฟล์ README.install โดยที่เอกสารจะแนะนำให้คุณใช้โปรแกรมเชลล์ชื่อ ns-install ช่วยทำการติดตั้ง ซึ่งโปรแกรมก็จะถามชื่อไดเรกทอรีที่จะเก็บแพ็คเก็จสำหรับการติดตั้ง ซึ่งสำหรับคอมมิวนิเคเตอร์รุ่นที่สี่ จะเปลี่ยนไปเก็บรีซอร์สต่างๆของโปรแกรมรวมทั้งตัวโปรแกรมเอง ในไดเรกทอรี "/opt/netscape" ซึ่งจะทำให้การจัดการติดตั้งและอัพเกรดโปรแกรมทำได้ง่ายและชัดเจนขึ้นมาก

ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานโปรแกรมเน็ตสเคปคือไม่สามารถใช้งานแอพเพล็ตจาวาเนื่องจากคอมมิวนิเคเตอร์ไม่สามารถค้นหาคลาสของจาวาพบ ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะเรายังไม่ได้กำหนดตัวแปรเชลล์ที่ชื่อ MOZILLA_HOME โดยจะต้องกำหนดให้ชี้ไปยัง /opt/netscape และเมื่อกำหนดเรียบร้อยแล้วโปรแกรมก็จะสามารถค้นหาคลาสของจาวาได้จากไดเรกทอรี $MOZILLA_HOME/java/classes ไดเรกทอรีที่เก็บคลาสของจาวาจะเก็บไว้ในตัวแปร CLASSPATH สำหรับบางระบบอาจมีการเซ็ต CLASSPATH ไว้ก่อน (เนื่องจากอาจมีโปรแกรมที่เป็นจาวาอยู่แล้ว) คอมมิวนิเคเตอร์ก็จะไปค้นหาคลาสของจาวาตามไดเรกทอรีที่ระบุไว้ในตัวแปร CLASSPATH แทน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเข้ากันไม่ได้ขึ้น ดังนั้นก่อนการเรียกโปรแกรมก็ควรจะ unset CLASSPATH เสียก่อน โดยทั่วไปแล้วนอกจากเรื่องของแอพเพล็ตจาวา ส่วนอื่นของคอมมิวนิเคเตอร์เช่น ไดนามิกฟอนท์, ปลั๊กอิน หรือระบบให้ความช่วยเหลือ ก็จะถูกกำหนดที่อยู่โดยอ้างอิงจากตัวแปร MOZILLA_HOME เหมือนกัน ดังนั้นเราควรจะระบุไดเรกทอรีของคอมมิวนิเคเตอร์ในตัวแปร MOZILLA_HOME ให้ถูกต้อง

วิธีการที่ดีที่สุดแทนที่จะต้องมากำหนดตัวแปร MOZILLA_HOME เอง หรือเปลี่ยน CLASSPATH ไปมาก็ควรจะเขียนเชลล์สคริปต์ขึ้นทำการเรียกใช้งานโปรแกรมโดยตรงจะทำให้การใช้งานโปรแกรมง่ายขึ้น รวมทั้งจะทำให้สะดวกต่อการอัพเกรดโปรแกรมด้วย

#!/bin/sh
unset CLASSPATH
MOZILLA_HOME=/opt/netscape
export MOZILLA_HOME
exec $MOZILLA_HOME/netscape $1 $2 $3 $4 $5

คุณอาจตั้งชื่อโปรแกรมนี้ว่า "netscape.sh" และใส่โปรแกรมนี้ไว้ในไดเรกทอรีที่ search path ถึง (ระบุในตัวแปร PATH) เช่น /usr/bin หรือ /usr/X11R6/bin ก็ได้ ถ้าต้องทำการอัพเกรดโปรแกรม ก็สามารถทำได้ง่ายโดยติดตั้งโปรแกรมใหม่ลงในไดเรกทอรีที่มีชื่อต่างกันไป แล้วก็เปลี่ยนชื่อไดเรกทอรีในตัวแปร MOZILLA_HOME ด้วย

การใช้งานภาษาไทย

การใช้งานภาษาไทยบนบราวเซอร์ตามที่ได้ระบุไว้ในส่วนของเอกสาร "การติดตั้งภาษาไทยอย่างง่ายๆ บนลีนุกซ์" จะยังไม่อำนวยความสะดวกให้เราได้มากนัก เนื่องจากหากเราจะต้องมาอ่านเอกสารภาษาไทยก็จะต้องมาทำการกำหนดฟอนท์ใหม่ และถ้าต้องการกลับไปใช้ภาษาอังกฤษก็จะต้องไปทำการกำหนดฟอนท์ที่เป็นภาษาอังกฤษใหม่อีกที ขั้นตอนเหล่านี้ค่อนข้างกินเวลาในการใช้งานโปรแกรมมาก วิธีการที่ดีกว่าคือการกำหนดการใช้งานฟอนท์แบบ User-Defined Encoding โดยจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงดังนี้
แก้ไขไฟล์ fonts.dir จากของเดิมเป็นดังต่อไปนี้

5
thai6x14.bdf -misc-thai6x14-medium-r-normal--10-100-75-75-c-60-iso8859-11
thai7x18.bdf -thai-fixed-medium-r-normal--14-100-100-100-m-70-iso8859-11 
thai8x13.pcf -misc-thai8x13-medium-r-normal--13-0-0-0-c-60-iso8859-11
thai8x13.pcf thai8x13
thai9x13.pcf thai9x13

จะเห็นว่าส่วนสำคัญที่เราแก้ไขเปลี่ยนแปลงคือส่วนรหัสด้านท้ายของฟอนท์ซึ่งจะแก้ไขจาก tis620.2529-1 เป็น iso8859-11 ซึ่ง iso8859-11 หรือรหัสแบบ (latin-thai) เป็นชื่อตารางรหัสภาษาไทยอย่างเป็นทางการที่ได้แจ้งไว้กับ ISO ดังนั้นเราก็ควรเปลี่ยนรหัสของฟอนท์เป็นตามแบบมาตรฐาน

[Preferences]
รูปแสดงการกำหนดฟอนท์ในส่วนของ Preferences...

จากนั้นก็ไปกำหนดฟอนท์ให้กับส่วนของ User-Defined โดยเลือกเมนู edit และซับเมนู "Preferences..." (ข้อกำหนดทั้งหมดของโปรแกรมจะอยู่ที่นี่) หน้าต่างของ Preferences ก็จะปรากฏขึ้นมาให้ ให้ไปคลิ๊กที่ Appearance จะปรากฏข้อย่อย Fonts และ Colors ออกมา ส่วนที่เราจะทำการแก้ไขก็คือ "Fonts" ให้คลิ๊กไปที่ "Fonts" ก็จะปรากฏข้อกำหนด ที่เกี่ยวกับเรื่องของ "Fonts"

ในข้อกำหนดของ "Fonts" ให้เลือกตัวเลือก "For the Encoding:" เป็น "User-Defined" และเลือกตัวเลือก "Variable Width Fonts" เป็น "Thai8x13 (Misc,iso8859-11)" เลือก size เป็น 12 และตัวเลือก "Fixed Width Fonts" ให้เลือกเป็น "Thai6x14 (Misc,iso8859-11)" และเลือก size เป็น 10 เมื่อทำทั้งหมดเสร็จแล้วก็ให้กดปุ่ม "OK" หน้าต่าง Preferences ก็จะถูกปิดและการกำหนดข้อกำหนดของ User-Defined Encoding ก็จะถูกบันทึกไว้แล้ว

[View Page]
รูปการเลือก encoding แบบ User-Defined เพื่อดูเอกสารที่เป็นภาษาไทย

เมื่อต้องการจะอ่านเอกสารที่เป็นภาษาไทยก็จะสามารถทำได้โดยการเมนู "View" และซับเมนู "Encoding" เป็น "User-Defined" จะทำให้บราวเซอร์แสดงผลเอกสารเป็นภาษาไทยได้


HTML developed by Kaiwal Development Team (kaiwal@geocities.com)