คำตาม : พ้นไปกว่าซอฟต์แวร์?

เอริก สตีเวน เรย์มอนด์

นี่คือรุ่น 3.0

สงวนลิขสิทธิ์

อนุญาตให้ทำสำเนา แจกจ่าย และ/หรือ แก้ไขเอกสารนี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขของ Open Publication License รุ่น 2.0

$Date: 2008-10-03 11:13:03 $

บันทึกรุ่น
รุ่นที่ 1.116 สิงหาคม 2542esr
รุ่นนี้ถูกใช้ในฉบับพิมพ์ครั้งแรก

บรรดาความเรียงต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้น แต่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด ยังมีคำถามมากมายที่ยังไม่ได้รับคำตอบเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส และยังมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์และทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น ๆ ที่ปรากฏการณ์โอเพนซอร์สได้จุดประเด็นขึ้น แต่ไม่ได้เสนอแนะถึงคำตอบที่ดีอย่างจริงจัง

ผมมักถูกถามว่า ผมเชื่อหรือไม่ว่าตัวแบบโอเพนซอร์สนั้นสามารถประยุกตใช้ให้เป็นประโยชน์กับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากซอฟต์แวร์ได้ โดยส่วนใหญ่คำถามมักถามเกี่ยวกับงานดนตรี หรือเนื้อหาทำนองหนังสือ หรือการออกแบบคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์ บ่อยเกือบพอ ๆ กัน ที่ผมถูกถามว่าผมคิดหรือไม่ว่าตัวแบบโอเพนซอร์สนั้นมีความหมายโดยนัยทางการเมือง

ไม่ใช่ว่าผมไม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับงานดนตรี หนังสือ ฮาร์ดแวร์ หรือการเมือง แม้ความคิดเห็นเหล่านั้นบางอันก็เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับแนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบโดยผู้มีฐานะเสมอกัน การกระจายไม่รวมศูนย์ และความเปิดกว้างซึ่งถูกสำรวจในหนังสือเล่มนี้ ขอเชิญผู้อ่านที่สนใจเยี่ยมชมหน้าเว็บของผมและคิดต่อจากนั้นด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ผมจงใจหลีกเลี่ยงการคาดเดาในสิ่งเหล่านั้นโดยเชื่อมโยงจากงานของผม ในฐานะที่ผมเป็นนักทฤษฎีและทูตของโอเพนซอร์ส

หลักการนั้นเรียบง่าย: รบทีละสนาม พวกผมเข้าร่วมการต่อสู้อันยากลำบาก เพื่อจะยกระดับความคาดหวังต่อคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคซอฟต์แวร์ และเพื่อจะโค่นกระบวนการมาตรฐานที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เราพบคู่ต่อสู้ที่ตั้งป้อมป้องกันอย่างแน่นหนา มีทั้งทุนมหาศาล ทั้งผู้คนที่เห็นพ้องกัน และทั้งอำนาจผูกขาด นี่ไม่ใช่การต่อสู้ที่ง่ายเลย แต่ทั้งตรรกะและเศรษฐศาสตร์นั้นชัดเจน เราชนะได้ และเราจะชนะ ถ้าเราไม่ละสายตาจากเป้าหมายนั้น

การมีสมาธิกับจุดมุ่งหมายดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยความแน่วแน่ไม่วอกแวกกับสิ่งไม่สำคัญเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่เป็นประเด็นที่ผมมักต้องเน้นเสมอเวลาผมพูดกับแฮกเกอร์คนอื่น ๆ เพราะที่ผ่านมาตัวแทนของเราได้แสดงแนวโน้มที่จะทำอะไรแบบอุดมการณ์ ในขณะที่พวกเขาจะมีประสิทธิภาพกว่านี้มาก ถ้ายึดอยู่กับข้อถกเถียงที่เฉพาะเจาะจงและไปในแนวปฏิบัติมากกว่า

ใช่ ความสำเร็จของโอเพนซอร์สที่กล่าวมานั้น นำไปสู่คำถามต่อสาระประโยชน์ของระบบสั่งการและควบคุม ของการเก็บเป็นความลับ ของการรวมศูนย์ และของทรัพย์สินทางปัญญาบางชนิด จะว่าเสแสร้งก็คงได้ หากจะไม่ยอมรับว่ามันแนะให้เห็นถึง (หรืออย่างน้อยก็ไปกันได้ดีกับ) มุมมองเสรีนิยมอย่างกว้าง ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าปัจเจกและเหล่าสถาบัน

อย่างไรก็ดี แม้จะมีประเด็นเหล่านี้ สำหรับผมแล้ว ผมเห็นว่ามันเหมาะสมกว่าที่จะพยายามเลี่ยงการนำเอาความคิดเหล่านี้ไปใช้อย่างเกินพอดีในตอนนี้ ตัวอย่างในกรณีนี้คือหนังสือส่วนใหญ่และงานดนตรีนั้นไม่เหมือนกับซอฟต์แวร์ เพราะโดยทั่วไปแล้วมันไม่จำเป็นต้องมีการดีบั๊กหรือดูแลรักษา ในเมื่อไม่มีความต้องการดังกล่าว ประโยชน์ของการตรวจสอบโดยผู้มีฐานะเสมอกันก็น้อยลงไปมาก และแรงกระตุ้นที่สมเหตุผลสำหรับการโอเพนซอร์สก็แทบจะหมดไป ผมไม่ต้องการจะทำให้ข้อโต้แย้งที่มีแววชนะจะต้องอ่อนลง ด้วยการนำเอาไปใช้ในที่ที่มีทางจะแพ้

ผมคาดหวังให้ขบวนการโอเพนซอร์สชนะเป้าประสงค์เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ภายในสามถึงห้าปี (นั่นคือ ภายในปี 2546–2548) เมื่อเป้าดังกล่าวสำเร็จ และผลลัพธ์ของมันได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นระยะเวลาหนึ่ง พวกเขาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเบื้องหลังของกลุ่มที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ และ ณ จุดนั้นนั่นเอง ที่จะเหมาะสมกว่าที่จะเริ่มใช้ทัศนะแบบโอเพนซอร์สกับงานด้านอื่น ๆ

ในระหว่างนี้ แม้พวกเราเหล่าแฮกเกอร์จะไม่ได้พร่ำบ่นอุดมการณ์เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เลย พวกเราก็ยังกำลังเปลี่ยนแปลงโลกอยู่ดี