Troy: Iliad ฉบับหนัง

ภาพยนตร์เรื่อง Troy เป็นการเล่าเรื่องสงครามกรุงทรอย (Trojan War) ที่เคยบอกเล่าผ่านมหากาพย์ อิเลียด (Iliad) และวรรณกรรมอื่นๆ ใหม่ในอีกมุมมองหนึ่ง ความเป็นหนังทำให้ต้องรวบรัดตัดความ ตัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออก แล้วไปเลือกเน้นจุดเด่นของตัวละครเป็นอย่างๆ ไป โดยเรียบเรียงบทใหม่ให้เกิดความต่อเนื่อง ลองมาดูซิว่า Troy นั้น ได้ดัดแปลงไปจากอิเลียดที่โฮเมอร์แต่งไว้อย่างไรบ้าง จากนั้น แถมท้ายด้วยเกร็ดความรู้ที่อิเลียดเข้าไปมีบทบาท

อิเลียด (Iliad) และ โอดีสซีย์ (Odyssey)

ก่อนอื่น ขอเกริ่นเกี่ยวกับวรรณกรรมกรีกที่เกี่ยวข้องเสียหน่อย

อิเลียด (Iliad) และ โอดีสซีย์ (Odyssey) นับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอก อันเป็นต้นแบบของวรรณกรรมยุโรปในยุคต่อๆ มา ทั้งสองเรื่องรจนาโดย โฮเมอร์ (Homer) มหากวีตาบอดชาวกรีก บอกเล่าเรื่องราวบางส่วนของสงครามกรุงทรอย โดยอิเลียดนั้น จับเอาช่วงท้ายของสงคราม ตั้งแต่เกิดข้อพิพาทระหว่าง อะกาเมมนอน (Agamamnon) กับ อะคิลลีส (Achilles) จนทำให้อะคิลลีสต้องถอนตัวจากสนามรบ ยังความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงแก่กองทัพกรีกในเวลาต่อมา จนกระทั่งอะคิลลีสได้สูญเสีย พาโทรคลัส (Patroclus) เพื่อนรักไป จึงได้หวนกลับสู่สนามรบ และสังหาร เฮกเตอร์ (Hector) เจ้าชายนักรบคนสำคัญของฝ่ายทรอยในที่สุด และเนื้อหาของอิเลียดก็จบลงเพียงแค่นี้ ถ้าไม่นับการเล่าอย่างรวบรัดถึงตอนจบของสงคราม ที่ฝ่ายพันธมิตรกรีกได้รับชัยชนะ

เรียกได้ว่า โฮเมอร์จงใจที่จะไม่เขียนเรื่องในลักษณะเล่าจากต้นจนจบ แต่จับเอากรณีพิพาทมาเขียนเป็นโศกนาฏกรรม (tragedy) โดยเฉพาะ ส่วนเรื่องส่วนอื่นๆ ของสงครามนั้น มีกวีท่านอื่นแต่งเพิ่มเติม เช่น เรื่องเกี่ยวกับ The Judgement of Paris และชะตากรรมของหญิงทรอยโดย ยูริพิดีส (Euripides), เรื่องการตายของอะแจ๊กซ์และเรื่องของฟิลอกทีทีสโดย โซโฟคลีส (Sophocles), เรื่องความพินาศของกรุงทรอยโดย เวอร์จิล (Virgil) กวีโรมัน เป็นต้น การที่จะติดตามอ่านเรื่องสงครามกรุงทรอยทั้งเรื่อง จึงหมายถึงการอ่านวรรณกรรมกรีกหลายชิ้นประกอบกัน และหนังสือเกี่ยวกับปกรณัมกรีก (Greek Mythology) แต่ละเล่ม ก็จะให้รายละเอียดไม่เท่ากัน ตามแต่ว่าใครจะรวบรวมวรรณกรรมมามากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

โอดีสซีย์ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามกรุงทรอย เล่าเรื่องการผจญภัยของ โอดีสซูส (Odysseus) (หรือ ยูลิซีส (Ulysses) ในภาษาละติน) ขณะเดินทางกลับบ้านที่ อิธาคา (Ithaca) หลังเสร็จสิ้นสงคราม โดยได้เกิดพายุพัดกองเรือของกรีกแตกกระจัดพลัดพราย แต่ละกองถูกพัดไปคนละที่ และต้องหาทางกลับบ้านเมืองเอง แต่กองเรือของโอดีสซูสถูกพัดไปในถิ่นแปลกประหลาด ทำให้ต้องร่อนเร่อยู่ตามเกาะต่างๆ ในทะเลอยู่ถึงสิบปี พบสิ่งแปลกประหลาดต่างๆ มากมายจนแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่เนื่องจากโอดีสซีย์ไม่ใช่เหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับหนังเรื่อง Troy จึงไม่ขอพูดถึงในรายละเอียดมากนัก

Troy เมื่อเป็นหนัง

เมื่อกลายเป็นภาพยนตร์ การเล่าเรื่องย่อมแตกต่างจากหนังสือ โดยเฉพาะกับเรื่องยาวระดับมหากาพย์เช่นนี้ เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับผู้เขียนบท ที่จะคัดเอาส่วนที่เป็นแก่นของเนื้อเรื่องมาผูกร้อยใหม่ โดยไม่ทำให้เนื้อหาเสียไป ซึ่งสำหรับ Troy เรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเก็บรายละเอียดฉากสำคัญได้ค่อนข้างดี ลองมาพิจารณาว่า เกิดการผ่าตัดเนื้อเรื่องอย่างไรบ้าง เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านอิเลียดเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจ

อะกาเมมนอนกับอะคิลลีส

เนื่องจากเนื้อหาหลักของอิเลียดเป็นความขัดแย้งระหว่าง อะกาเมมนอน (Agamemnon) กับ อะคิลลีส (Achilles) และผลที่ตามมา จึงเห็นได้ว่า ผู้สร้างหนังเรื่อง Troy ก็ได้เน้นบุคลิกของทั้งสองคนให้เข้มข้นกว่าปกติ โดยได้สร้างเรื่องปูทางมาตั้งแต่ต้นเรื่อง ให้อะคิลลีสเป็นพวกอัจฉริยะหัวรุนแรง รักอิสระ ขาดระเบียบวินัย ในขณะที่ให้อะกาเมมนอนเป็นจอมทรราชย์บ้าอำนาจ ทั้งนี้ ก็คงเป็นการจินตนาการย้อนกลับจากเหตุการณ์วิวาทในนิยาย ที่ต่างฝ่ายต่างโต้เถียงกันอย่างรุนแรง โดยวางพล็อตจากบุคลิกที่แสดงออก ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว ออกจะไม่ค่อยยุติธรรมที่จะเอาพฤติกรรมของคนขณะโกรธ มาเป็นตัวแทนของคนคนนั้น แต่การวางโครงเรื่องอย่างนี้ ก็ทำให้หนังเข้าใจง่ายลง

หากมองจากเหตุการณ์ในอิเลียด อะคิลลีสก็เป็นเหมือนเจ้าเมืองอื่นๆ ที่ถูกเกณฑ์ให้มาช่วยรบตามสัญญาที่เคยให้ไว้ในวันที่เจ้าหญิง เฮเลน (Helen) เลือกคู่ ว่าหากเกิดการแย่งชิงนางขึ้น คนที่เหลือจะยกทัพมาช่วย ไม่ได้มาเพราะกระหายจะได้ยึดสมบัติเมืองทรอย หรือเพื่อชิงนาง เหตุวิวาทที่เกิดขึ้น ก็มาจากการที่กองทัพกรีกไปตีชิงเสบียง แล้วเกิดไปพานาง ไครซีอิส (Chryseis) ลูกสาวของ ไครซีส (Chryses) พระประจำวิหารอะพอลโล มาเป็นนางรับใช้อะกาเมมนอน ไครซีสอยากได้ลูกสาวคืน จึงเอาทรัพย์สมบัติมาไถ่ อะกาเมมนอนก็ไม่ยอมคืนให้ ไครซีสจึงสวดอ้อนวอนอะพอลโลให้ช่วย อะพอลโลจึงยิงธนูลงมาเป็นห่าฝน ทำให้ทหารกรีกล้มตายทุกวัน ในที่สุด อะคิลลีสจึงเรียกประชุมหาสาเหตุ และขอมติว่าจะถอนทัพกลับหรือไม่ โหร คาลคัส (Calchas) รู้สาเหตุแต่เกรงอำนาจอะกาเมมนอน จึงได้ขอการปกป้องก่อนบอกความจริง อะคิลลีสสัญญาว่าจะปกป้องคาลคัสเอง แม้คนผิดจะเป็นอะกาเมมนอนก็ตาม

เมื่อคาลคัสบอกสาเหตุการล้มตายของทหารกรีก ว่าเป็นเพราะอะพอลโลพิโรธที่อะกาเมมนอนไม่ยอมคืนนางไครซีอิส อะกาเมมนอนได้ฟังก็โกรธ เพราะอะกาเมมนอนเองก็ลุ่มหลงนางอยู่เหมือนกัน จึงตอบว่าจะยอมเสียสละก็ได้ แต่เท่ากับว่า ส่วนแบ่งรางวัลแห่งความกล้าหาญในสนามรบของเขาก็จะลดลง เขาขอชดเชยโดยแบ่งจากของคนอื่น

อะคิลลีสตอบว่า มันไม่เหมาะที่จะไปขอส่วนแบ่งที่ให้ไปแล้วคืน แต่ถ้าเขายอมส่งนางคืนเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม ทุกคนที่นี่สัญญาว่าเขาจะได้ส่วนแบ่งมากที่สุดเมื่อยึดทรอยได้

แต่นั่นไม่ทำให้อะกาเมมนอนพอใจ และยืนยันที่จะขอชดเชย ทำให้อะคิลลีสไม่พอใจในความเห็นแก่ตัวของอะกาเมมนอน และต่อว่าว่า ที่ทุกคนมารบนี้ ก็ไม่ได้มีความขุ่นข้องหมองใจกับทรอยแม้แต่นิด แต่ก็ล้วนมาช่วย เมเนเลอัส (Menelaus) อนุชาของอะกาเมมนอน เพื่อชิงเฮเลนคืน แถมส่วนแบ่งในเสบียงที่ผ่านมา อะกาเมมนอนก็ได้มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ยังจะมาคิดเล็กคิดน้อยอยู่อีก และว่า หากอะกาเมมนอนยังเป็นแบบนี้อยู่ต่อไป เขาก็ไม่อยากจะช่วยรบอีกแล้ว

ด้วยความหยิ่ง อะกาเมมนอนตอบไปว่า กองทัพของเขามีคนเก่งมากมาย ขาดอะคิลลีสไปสักคนก็ไม่เป็นไร และสำทับอีกว่า จะยึดนาง ไบรซีอิส (Briseis) จากอะคิลลีสมาชดเชย เพื่อให้อะคิลลีสได้รู้ความรู้สึกของความสูญเสียเสียบ้าง และจะได้สำนึกเสียด้วยว่าในที่นี้ใครที่เป็นใหญ่

ถึงตรงนี้ อะคิลลีสถึงกับฟิวส์ขาด เตรียมชักดาบจะฟันอะกาเมมนอน แต่ในใจก็ยั้งคิดว่าจะทำให้เสียการ ก็พอดีกับที่เทพี อะธีนา (Athena) ลงมาฉุดรั้งอะคิลลีสไว้ ทำให้เขาสงบลงได้ ยอมให้อะกาเมมนอนยึดนางไบรซีอิส และเตรียมตัวถอนทัพกลับ

ความรู้สึกจากการอ่านอิเลียด จึงไม่ได้รู้สึกว่า อะคิลลีสเป็นพวกไร้วินัย แต่เป็นคนกล้าพูดกล้าทำ มีหลักการ ในขณะที่อะกาเมมนอน กลับควบคุมตัวเองได้แย่กว่า

บางส่วนของเนื้อเรื่องที่ถูกตัดทอน

นอกจากการเน้นบุคลิกตัวละครให้เป็นขาวกับดำตามแบบฉบับหนังแอคชันแล้ว ยังมีการตัดทอนรายละเอียดหยุมหยิมออกไปมากมาย เพื่อไม่ให้เรื่องซับซ้อนเกินไป ส่วนที่หายไปเลยคือเรื่องของเทพเจ้า งานนี้เล่าแต่เรื่องมนุษย์ล้วนๆ (แต่แค่นี้ก็จะอัดไม่ลงแล้ว กับเวลาแค่สองชั่วโมงครึ่ง) นอกจากนี้ ยังมีวีรบุรุษคนสำคัญที่หายไป คือ ไดโอมีดีส (Diomedes) ส่วน อะแจ๊กซ์ (Ajax) ถูกลดบทบาทลงไปนิด แต่ก็ยังมีบทอยู่ ถึงจะถูกเปลี่ยนให้ตายก่อนที่โฮเมอร์แต่งไว้ แต่เพื่อขับบทของ อะคิลลีส (Achilles) และ โอดีสซูส (Odysseus) ให้เด่น โดยไม่ทำให้เรื่องซับซ้อนเกินไป ก็ถือได้ว่าสมควรแล้ว

สำหรับเทพเจ้านั้น ในอิเลียดจะมีบทบาทมากพอๆ กับมนุษย์ โดยที่มนุษย์ออกจะกลายเป็นหมากเป็นเบี้ยที่เทพเจ้าใช้เดินเพื่อต่อสู้กันด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ใช่ว่าชาวกรีกเป็นพวกงมงายในเทพเจ้า ตรงกันข้าม กรีกออกจะเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ เชื่อในประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมปกครองตนเอง รูปภาพของกรีกจะเน้นสรีระของมนุษย์ที่ถือว่าเป็นสิ่งสูงส่ง บทบาทของเทพเจ้าในปกรณัมกรีกนั้น เป็นเหมือนการแทนมโนทัศน์บางอย่างในรูปทั่วไป เช่น แทนการยับยั้งชั่งใจตัวเองของอะคิลลีสด้วยการฉุดรั้งของเทพีอะธีนา เป็นต้น สงครามกรุงทรอยครั้งนี้ อะโฟรไดตี (Aphrodite) เทพีแห่งความงาม อยู่ฝ่ายทรอย ก็ด้วยเป็นตัวแทนของเฮเลน ซึ่งความงาม มักจะชักพาเอา อารีส (Ares) เทพเจ้าแห่งสงคราม ผู้เป็นชู้รักไปด้วย แต่ฝ่ายทรอยก็ยังมี สุริยเทพ อะพอลโล (Apollo) สนับสนุน เพราะทรอยมีความแข็งแกร่งของกองทัพและค่ายคูประตูเมืองนั่นเอง ส่วนฝ่ายกรีกนั้น เทพเจ้าที่ปกป้องก็เป็นเทพเจ้ารักษาเมืองของกรีกอยู่แล้ว ทั้ง อะธีนา (Athena) เทพีแห่งนักรบและสรรพวิชา และสมุทรเทพ โพไซดอน (Poseidon) ผู้ปกป้องนักเดินเรืออย่างกรีก ส่วน ฮีรา (Hera) พระแม่ผู้เป็นใหญ่ ก็เป็นผู้พิทักษ์ชีวิตสมรส ก็แทนเหตุผลของการทำสงครามของฝ่ายกรีกนั่นเอง (ย่อหน้านี้ ผู้เขียนวิเคราะห์เอาเอง พึงระวังหากจะใช้เป็นแหล่งอ้างอิง)

ส่วนบทบาทของไดโอมีดีสนั้น เขาเป็นขุนพลคนสำคัญของฝ่ายกรีก ในระหว่างที่อะคิลลีสถอนตัวจากสนามรบ เขาเป็นกำลังสำคัญในการต่อตี สังหารนายทหารทรอยไปมากมาย ทั้งยังเป็นนักรบคนเดียวที่กล้าต่อกรกับเทพเจ้าที่เข้ามาช่วยฝ่ายทรอย โดยครั้งที่อารีส เทพเจ้าสงคราม มาช่วยฝ่ายทรอย ทำให้กรีกล่าถอย อะธีนาได้มาช่วยเป็นสารถีให้เขา ทำให้ไดโอมีดีสพุ่งหอกถูกอารีสบาดเจ็บหนีไป ฝ่ายกรีกจึงเริ่มเป็นต่อ และในวันเดียวกัน เขาก็ได้รบกับ อีนีอัส (Aeneas) นายทหารของฝ่ายทรอยจนจวนเจียนจะประหารอีนีอัสได้ แต่อะโฟรไดตีได้ลงมาอุ้มอีนีอัสหนีไป ไดโอมีดีสก็ไล่ตามไปฟันถูกแขนอะโฟรไดตีบาดเจ็บ เกือบจะชิงตัวอีนีอัสได้ หากไม่เป็นเพราะอะพอลโลลงมาช่วยอีกแรง นอกจากนี้ ในการทำการครั้งอื่นๆ มีหลายครั้งที่เขาอาสาไปกับโอดีสซูส และทำงานสำเร็จเสมอๆ

เนื้อเรื่องที่ถูกดัดแปลง

พูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนเนื้อเรื่องของหนังบ้าง จุดเล็กๆ จุดหนึ่งคือ การไม่ได้เน้นว่าสงครามนี้กินเวลาถึงสิบปี ตั้งแต่ตั้งค่ายรบกันจนตีทรอยแตก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่ที่น่าตกใจมากคือ ให้ เมเนเลอัส (Menelaus) ตายตั้งแต่ต้นเรื่อง เป็นอันว่า เทเลมาคัส (Telemachus) ในโอดีสซีย์ ขาดคนให้ถามข่าวพ่อไปเสียแล้ว เรื่องนี้นับว่าพลิกบทอย่างร้ายแรง อาจจะเพื่อเน้นความบ้าอำนาจของอะกาเมมนอน ว่าที่รบๆ เนี่ย ไม่ใช่เพื่อชิงเฮเลนคืนอีกต่อไป แถมยังย้ำโดยให้เฮกเตอร์เตือนเฮเลนตอนพยายามหนีอีกด้วย

ในอิเลียด ฉากต่อสู้ระหว่างปารีสกับเมเนเลอัสนี้ มีเทพเจ้าเข้ามาแทรกแซงถึงสององค์ คือ อะโฟรไดตี (Aphrodite) กับ อะธีนา (Athena) โดยในขณะที่ปารีสเพลี่ยงพล้ำนั้น อะโฟรไดตีมาอุ้มเอาปารีสหนีไป เป็นอันว่าฝ่ายทรอยแพ้ ต้องคืนเฮเลนให้ตามสัญญา แต่ ฮีรา (Hera) เห็นว่า สงครามไม่ควรยุติจนกว่าทรอยจะพินาศ จึงให้ อะธีนา (Athena) ลงมาดลใจให้ แพนดารัส (Pandarus) มือฉมังธนูฝ่ายทรอยยิงธนูใส่เมเนเลอัส โดยอะธีนาเองก็ไปปัดธนูไม่ให้ถูกที่สำคัญ เป็นอันว่า ฝ่ายทรอยไม่รักษาสัญญา สงครามจึงดำเนินต่อไป

จะเห็นว่า ฉากนี้ คนทำร้ายเมเนเลอัสไม่ใช่เฮกเตอร์เหมือนในหนัง แต่เพื่อความไม่ซับซ้อน หนังจึงให้เฮกเตอร์รับบทปกป้องน้องชายเสีย เรียกว่าเป็นทั้งอะโฟรไดตีและแพนดารัสในคราวเดียว แต่การแก้บทให้เมเนเลอัสถึงกับตายเลย ก็น่าตกใจมาก เพราะทำให้ความหมายของสงครามเปลี่ยนไปทันที

อีกเรื่องหนึ่งคือให้ ปารีส (Paris) รอดตาย ทั้งๆ ที่ต้องถูก ฟิลอกทีทีส (Philoctetes) ฆ่าในศึกครั้งหลังจากที่ยิงข้อเท้าอะคิลลีส (กล่าวคือ อะคิลลีสเอง ก็ไม่เคยเข้าไปในม้าไม้อย่างในหนัง เพราะหลังจากฆ่าเฮกเตอร์แล้ว ศึกครั้งต่อมาก็ถูกปารีสยิงธนูใส่ "Achilles' heel" ตาย ตามคำทำนายที่ว่า อะคิลลีสจะต้องตายตกตามเฮกเตอร์ไปในไม่ช้า และในศึกครั้งต่อมา ปารีสก็ถูกฟิลอกทีทีสยิงด้วยศรเฮอร์คิวลีสตาย ขณะที่ปารีสตายนั้น ยังไม่เกิดกลศึกม้าไม้ด้วยซ้ำไป)

ส่วน อะกาเมมนอน หนังก็ให้ถูกฆ่าตอนท้ายเรื่อง ทั้งๆ ที่ในอิเลียด เขามีชีวิตรอดกลับไปอย่างผู้ชนะ โดยสามารถพาเฮเลนกลับคืนไปอยู่กับเมเนเลอัสที่สปาร์ตาได้อีกด้วย แต่ความเป็นหนัง จะให้เป็นเช่นนั้นก็คงไม่สะใจคนดู กับความน่าหมั่นไส้ที่อะกาเมมนอนเป็นมาตั้งแต่ต้นเรื่อง

คนที่รับบทซับซ้อนที่สุดในหนังเรื่องนี้ คงต้องยกให้ ไบรซีอิส (Briseis) ผู้หญิงของอะคิลลีสที่เป็นต้นเหตุของความบาดหมางกับอะกาเมมนอน ในหนัง เธอรับบทถึงสามคนในหนึ่งเดียว หนึ่งคือ ไครซีอิส (Chryseis) บุตรสาวของพระประจำวิหารอะพอลโลที่ถูกพวกกรีกปล้นและชิงตัวมา สองคือ ไบรซีอิส (Briseis) หญิงที่อะคิลลีสได้เป็นส่วนแบ่งรางวัลจากการปล้นเสบียงจากเกาะข้างเคียงมาเสริมทัพ และถูกอะกาเมมนอนยึดตัวไป เพื่อชดเชยกับไครซีอิสที่ต้องส่งคืนไป สามคือ โพลิกซีนา (Polyxena) ธิดาของกษัตริย์ พริอัม (Priam) แห่งทรอย ซึ่งอะคิลลีสหลงรัก

เก็บตกตัวละคร

ในหนัง มีคนที่มีบทบาทค่อนข้างมากแต่ไม่ค่อยถูกเรียกชื่ออยู่สองคน คนหนึ่งคือราชาผู้เฒ่า เนสเตอร์ (Nestor) แห่ง ไพลอส (Pylos) ที่คอยให้คำแนะนำแก่อะกาเมมนอน และอีกคนคือ แอนโดรมาคี (Andromache) ชายาของเฮกเตอร์นั่นเอง

อีกคนหนึ่งที่ชวนให้สงสัยต่อพอดู คือคนที่รับดาบแห่งทรอยจากปารีสนั้นเป็นใคร เขาคือ อีนีอัส (Aeneas) บุตรของ แอนไคซีส (Anchises) กับ อะโฟรไดตี (Aphrodite) เข้าร่วมกับฝ่ายทรอยเมื่อถูกอะคิลลีสรุกราน ซึ่งปรากฏว่า เขากลายเป็นผู้กล้าของฝ่ายทรอยที่เป็นรองก็แต่เฮกเตอร์เท่านั้น และยังเป็นผู้ที่เทพเจ้าโปรดปราน ในสนามรบ เขาเคยถูกไดโอมีดีสทำร้าย อะโฟรไดตีพยายามมาช่วย จนอะโฟรไดตีโดนฟันแขนบาดเจ็บ ร้อนถึงอะพอลโลต้องมาช่วยอีกแรง ดังที่กล่าวไปแล้วในเรื่องของไดโอมีดีส

เมื่อกรุงทรอยแตก อีนีอัสสามารถหลบหนีออกมาได้ พร้อมอุ้มพ่อกับลูกของตนออกมาด้วย จากนั้น ได้ออกเรือหาที่ปักหลักใหม่อยู่นานหลายปี ดังบรรยายในเรื่อง อีนีอิด (Aeneid) ที่แต่งโดยเวอร์จิล จนกระทั่งมาถึงอิตาลี และได้ตั้งเมืองขึ้น และต่อมาจึงเกิด โรมูลัส และ รีมัส (Romulus and Remus) ผู้ก่อตั้งกรุงโรมขึ้น ชาวโรมันจึงนับถืออีนีอัสเป็นบรรพบุรุษของตน

เรียกได้ว่า ถ้าจะมีตอนต่อของหนังเรื่องทรอยนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องของอีนีอัสนี่แหละ เพราะมีการรับไม้ต่อในตอนท้ายเรื่องจนน่าสังเกต ส่วนเรื่องโอดีสซีย์นั้น ตัวละครสำคัญหลายคนได้ตายไปแล้วในหนังภาคนี้

ศัพท์จากสงครามกรุงทรอย

ความคลาสสิกของมหากาพย์อย่างสงครามกรุงทรอย ทำให้เกิดศัพท์ภาษาอังกฤษจำนวนหนึ่ง

Achilles' heel
น. เรื่องเล็กๆ แต่เป็นจุดอ่อนสำคัญของบุคคล
นางอัปสร ธีทิส (Thetis) ปรารถนาจะให้ อะคิลลีส (Achilles) บุตรของนางอันเกิดกับ พีลีอัส (Peleus) ผู้เป็นมนุษย์ ได้เป็นอมตะเหมือนนาง จึงได้ชุบตัวอะคิลลีสในแม่น้ำ สติกซ์ (Styx) ในยมโลก แต่ในการชุบตัวนี้ มีส่วนข้อเท้าที่นางใช้มือจับที่ไม่ถูกชุบ ดังนั้น จุดนี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้อะคิลลีสถูกฆ่าในสนามรบ ด้วยน้ำมือของเทพอะพอลโล ผ่านการยิงศรโดยปารีส โดยเล็งที่ข้อเท้า
การที่อะคิลลีส วีรบุรุษผู้เก่งกล้าที่สุดของฝ่ายกรีก ถูกฆ่าเพราะจุดอ่อนเล็กๆ นี้ คำว่า "ส้นเท้าอะคิลลีส" หรือ "Achilles' heel" จึงกลายเป็นสำนวนใช้เรียกจุดอ่อนเล็กๆ ของบุคคล ที่กลายเป็นจุดสำคัญให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงได้
Cassandra
น. ผู้พยากรณ์เหตุร้าย
คาสซานดรา (Cassandra) เป็นธิดาของกษัตริย์ พริอัม (Priam) และราชินี เฮกคิวบา (Hecuba) แห่งทรอย โดยเป็นฝาแฝดกับ เฮเลนัส (Helenus) โหรประจำกองทัพทรอย ความงามของคาสซานดราทำให้เทพอะพอลโลหลงรัก จึงได้ให้พรนางให้มีความสามารถในการทำนายอนาคตอย่างแม่นยำ โดยแลกกับการมีไมตรีตอบ แต่นางก็ได้ปฏิเสธเทพอะพอลโลในนาทีสุดท้าย โดยที่อะพอลโลไม่สามารถเรียกพรที่ให้ไปแล้วคืนได้ จึงได้สาปให้ไม่มีใครเชื่อคำทำนายของนาง ในสงครามกรุงทรอย คาสซานดราได้ทำนายล่วงหน้า ว่าทรอยจะแตก ขุนศึกจะถูกฆ่าฟันล้มตาย และนางเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการลากม้าไม้เข้าเมือง แต่ทุกคนหัวเราะเยาะและไม่มีใครเชื่อนาง จนกระทั่งกรุงทรอยแตกในที่สุด คาสซานดราก็ถูกอะกาเมมนอนกวาดต้อนกลับไปยังนคร ไมซีนี (Mycenae) และจบชีวิตที่นั่น
ปัจจุบัน คำว่า Cassandra กลายเป็นคำเรียกผู้ที่มักทำนายหายนภัยล่วงหน้า เช่น นักเศรษฐศาสตร์ที่มักพยากรณ์เศรษฐกิจในแง่ร้ายเสมอๆ
hector
ก. ข่มขู่บังคับ
เฮกเตอร์ (Hector) เป็นราชบุตรองค์โตของกษัตริย์ พริอัม (Priam) และราชินี เฮกคิวบา (Hecuba) แห่งทรอย เฮกเตอร์เป็นวีรบุรุษที่เก่งกล้าสามารถที่สุดของฝ่ายทรอย นับเป็นบุคคลในอุดมคติที่สุดในเรื่องอิเลียด ในบุคลิกกล้าหาญ เสียสละเพื่อชาติ รักเกียรติศักดิ์ศรี ใจกว้าง เป็นพ่อและสามีที่ดี ในสนามรบนั้น ความห้าวหาญของเขาทำให้เขาได้ฉายาว่า จอมสยบอาชา (Tamer of horses) ใครได้เข้าใกล้เขาไม่มีใครไม่สะท้านกลัว แม้แต่อะคิลลีสเอง
เมื่อ hector กลายเป็นคำกริยาในปัจจุบัน จึงมีความหมายว่า ข่มขู่ให้กลัว
laconic
ว. (คำพูด) สั้นห้วน ได้ใจความ
คำนี้ไม่ได้มาจากอิเลียดโดยตรง แต่เกี่ยวเนื่องกับเมือง สปาร์ตา (Sparta) ที่อยู่ในแคว้น ลาโคนิกา (Laconica) หรือเรียกในภาษาโรมันว่า ลาโคเนีย (Laconia) คำว่า ลาโคนิกา มาจากคำกรีก Lakonikos แปลว่าการประหยัดถ้อยคำ มีเรื่องเล่าถึงการพูดน้อยต่อยหนักของชาวสปาร์ตาว่า ครั้งหนึ่ง กษัตริย์ฟิลิปแห่งมาเซดอน (Phillip of Macedon) บิดาของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช ได้เคยส่งจดหมายข่มขู่ชาวสปาร์ตาว่า "ถ้าบุกลาโคเนียได้ จะเผานครสปาร์ตาให้เป็นจุณ" ชาวสปาร์ตาอ่านเสร็จก็ร่างจดหมายตอบไปสั้นๆ ว่า "ถ้า" (If) คำเดียว
ความสั้นห้วน แต่ได้ใจความ จึงแทนด้วยคำวิเศษณ์ว่า laconic
myrmidon
น. ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัดโดยไม่สงสัย
ทหารจากแคว้น เธสซาลี (Thessaly) ที่ติดตามอะคิลลีสมารบทรอย เป็นชาว เมอร์มิดอน (Myrmidones) ซึ่งตามตำนานเกิดจากมด จึงเชื่อฟังคำสั่งนายทัพอย่างไม่สงสัย แม้การถอนตัวจากสนามรบของอะคิลลีสจะทำให้เพื่อนร่วมชาติล้มตายมากมายก็ตาม
myrmidon จึงมีความหมายถึงผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีลักษณะเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น ทหารนาซีที่ปฏิบัติการฆ่ายิวตามคำสั่งฮิตเลอร์อย่างไม่สงสัย
nestor
น. ผู้คร่ำหวอดแห่งวงการ
เนสเตอร์ (Nestor) ราชาแห่ง ไพลอส (Pylos) คือผู้มีอาวุโสที่สุดในบรรดากษัตริย์ในกองทัพพันธมิตรกรีก ในวัยหนุ่ม เนสเตอร์เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ และความรอบรู้ในการศึกก็พัฒนามากขึ้นตามอายุ รวมทั้งชั้นเชิงด้านการพูดด้วย เขาจึงเป็นผู้ให้คำแนะนำที่รอบคอบแก่อะกาเมมนอนเสมอๆ ในอิเลียด โฮเมอร์บรรยายว่าเขาฉลาดยิ่งกว่า โอดีสซูส (Odysseus) ผู้ออกอุบายกลศึกม้าไม้เสียอีก
คำว่า nestor ในปัจจุบัน จึงหมายถึงผู้คร่ำหวอดในวงการหนึ่งๆ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำที่ดีแก่ผู้อื่นได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพูดเก่งเหมือนเนสเตอร์แห่งไพลอส
palladium
น. ธาตุอันดับที่ 46 สัญลักษณ์ Pd
พัลลัส (Pallus) คือชื่อสกุลของ พัลลัส อะธีนา (Pallus Athena) หรือ อะธีนา (Athena) เทพีแห่งนักรบและสรรพวิชาการ ธิดาแห่งมหาเทพ ซูส (Zeus) ที่เรารู้จักนั่นเอง ในสงครามกรุงทรอยช่วงท้าย หลังจากที่อะคิลลีสต้องศรตายในสนามรบ อะแจ๊กซ์คลั่งตาย และปารีสถูกศรเฮอร์คิวลีสที่ยิงโดย ฟิลอกทีทีส (Philoctetes) ตายแล้ว ทรอยก็ยังยืนหยัดอยู่ได้แม้ไร้เฮกเตอร์ ทัพกรีกสืบทราบมาว่า เป็นเพราะรูปสลัก พัลลาเดียม (Palladium) ของเทพีอะธีนานั่นเอง ที่ปกป้องคุ้มภัยทรอยอยู่ แม้อะธีนาเองจะโปรดปรานฝ่ายกรีกอยู่ก็ตาม ดังนั้น โอดีสซูส (Odysseus) และ ไดโอมีดีส (Diomedes) จึงอาสาลอบเข้าไปขโมยพัลลาเดียมออกมา จากนั้นจึงเริ่มวางแผนเผด็จศึกด้วยกลศึกม้าไม้
เมื่อมีการค้นพบแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี มีการตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงด้วยชื่อเทพเจ้ากรีก (ในขณะที่ชื่อดาวนพเคราะห์จะใช้ชื่อเทพเจ้าโรมัน) และดวงแรกๆ ที่พบ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง ก็ได้รับการขนานนามว่า พัลลัส (Pallus) ในปี 1803 และในปีเดียวกันนั้นเอง ก็มีการค้นพบธาตุใหม่ เป็นโลหะสีขาวมันวาว ก็เลยตั้งชื่อธาตุใหม่ว่า พัลลาเดียม (Palladium) เพื่อเป็นเกียรติแก่การพบดาวเคราะห์น้อยด้วย
spartan
ว. (ความเป็นอยู่) เรียบง่าย แต่เคร่งครัด และกระเบียดกระเสียน
นคร สปาร์ตา (Sparta) ของกษัตริย์ เมเนเลอัส (Menelaus) นั้น ขึ้นชื่อในด้านความเป็นอยู่ที่เข้มงวดของชาวเมือง เพื่อเตรียมพร้อมกับศึกสงครามอยู่ตลอดเวลา มีการฝึกทหารไม่ขาด กินในโรงอาหารรวม เด็กก็เติบโตในโรงเลี้ยงเด็กรวม โดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย
คำว่า spartan จึงใช้บรรยายสภาพความเป็นอยู่แบบง่ายๆ ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก แต่เคร่งครัดในวินัยเหมือนทหาร และบางครั้งใช้เรียกความเป็นอยู่ในคอมมูนในระบบคอมมิวนิสต์ด้วย
stentorian
ว. (เสียงพูด) กัมปนาท ดังก้อง
สเตนเตอร์ (Stentor) เป็นนักรบฝ่ายกรีกในสงครามกรุงทรอยที่มีเสียงดังเทียบเท่าทหาร 50 คนรวมกัน จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ส่งข่าวในกองทัพ ในห้วงแห่งการศึก มีครั้งหนึ่งที่ฝ่ายทรอยกำลังเป็นต่อ เนื่องจาก อารีส (Ares) เทพเจ้าแห่งสงครามมาช่วยฝ่ายทรอยรบ เทพี ฮีรา (Hera) และ อะธีนา (Athena) เห็นสถานการณ์ฝ่ายกรีกไม่ดี จึงขอราชานุญาตจาก ซูส (Zeus) ผู้เป็นใหญ่ขอลงมาช่วยฝ่ายกรีกบ้าง ซูสก็อนุญาต ฮีราได้แปลงเป็นขุนศึกสเตนเตอร์เข้ามาในสนามรบ ตะโกนปลุกความฮึกเหิมแก่ทหารกรีก ส่วนอะธีนาก็ไปช่วยไดโอมีดีสรบกับอารีส จนเทพอารีสต้องหอกไดโอมีดีสบาดเจ็บล่าถอยไป กองทหารกรีกที่ฮึดสู้ขึ้นมาจึงตีทรอยถอยร่นไป จนในที่สุด เฮกเตอร์ต้องออกมากั้นหอกท้าดวลกับทหารกรีกตัวต่อตัวเพื่อให้ทหารได้พัก ซึ่งคนที่ออกมาดวลกับเฮกเตอร์ก็คือ อะแจ๊กซ์ (Ajax)
คำว่า stentorian จึงใช้กับเสียงพูดที่ดังก้องกังวาน สามารถได้ยินแต่ไกล
Trojan horse
น. การโจมตีจากภายในโดยหลอกล่อให้นำเข้าไปเอง
หลังจากตีกรุงทรอยถึงเกือบสิบปีก็ไม่แตก ในที่สุด โอดีสซูส (Odysseus) ก็เกิดพุทธิปัญญา เสนอกลศึกม้าไม้อันลือชื่อ ด้วยการสร้างม้าไม้ขนาดใหญ่ ข้างในกลวง ภายในซ่อนทหารกรีกไว้ แล้วให้กองเรือถอยไปซ่อนตามเกาะต่างๆ วันรุ่งขึ้น ทหารทรอยเห็นบริเวณที่พักทัพกรีกเหลือแต่ชายหาดโล่งๆ เรือก็ไม่เหลือสักลำ จึงมาสำรวจ พบม้าไม้ตัวใหญ่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว และ ไซนอน (Sinon) ทหารที่โอดีสซูสทิ้งไว้พร้อมแผนการณ์หลอกล่อ ไซนอนถูกจับเข้าไปเฝ้า พริอัม (Priam) เขาสร้างเรื่องบอกว่าขอแปรพักตร์เข้ากับฝ่ายทรอย เพราะการขโมยพัลลาเดียมทำให้อะธีนาพิโรธ และลงโทษกองทัพกรีก โดยทางเดียวที่จะชดเชยความผิดได้ คือการบูชายัญมนุษย์ และเขาก็คือผู้ถูกเลือก แต่ได้หลบหนี ทำให้อะธีนาลงโทษอีก จนทัพกรีกต้องล่าถอยกลับบ้าน แต่เพื่อให้อะธีนาคลายพิโรธ จึงได้สร้างม้าไม้ไว้ถวาย แต่ได้สร้างให้ใหญ่โตสูงกว่าประตูเมืองทรอย เพื่อไม่ให้ทรอยชักลากเข้าไปได้ เพราะมิฉะนั้น อะธีนาจะคุ้มครองฝ่ายทรอยอีก ในทางตรงข้าม ถ้าทรอยทำลายม้าไม้ ก็จะทำให้อะธีนาพิโรธฝ่ายทรอยแทน พริอัมเชื่อสนิท และสั่งทหารชักม้าไม้เข้าเมืองโดยพังประตูเมืองเสีย แม้จะมีคำทำนายของ คาสซานดรา (Cassandra) ว่าทรอยจะพินาศ และมีนักบวช เลออคโคออน (Laocoön) มาทัดทาน แต่ก็ปรากฏว่า โพไซดอน (Poseidon) ราชันย์แห่งท้องทะเลผู้เข้าข้างทัพกรีก ได้ส่งงูมารัดเลออคโคออนและลูกชายจนตาย แล้วเลื้อยหายเข้าไปในวิหารอะธีนา ยิ่งทำให้พริอัมมั่นใจที่จะชักม้าไม้เข้าเมือง และเลี้ยงฉลองชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ จนเมื่อตกดึก ทหารและชาวเมืองต่างหลับใหล ทหารกรีกในม้าไม้จึงทยอยออกมา ส่วนหนึ่งวิ่งไปเปิดประตูเมือง และส่งสัญญาณให้กองเรือที่เคลื่อนออกจากที่ซ่อนมารอให้เข้าตี อีกส่วนหนึ่งก็เที่ยวจุดไฟเผาเมือง ฆ่าทหารและชาวเมืองเป็นว่าเล่น ทัพกรีกชนะทรอยได้ในคืนเดียว หลังจากรบในสนามรบมาเกือบสิบปี ความห้าวหาญของขุนศึกอย่างอะคิลลีส อะแจ๊กซ์ หรือไดโอมีดีส หาสู้ลิ้นของไซนอนคนเดียวไม่
การโจมตีจากภายในโดยหลอกล่อให้นำเข้าไปเองในลักษณะนี้ จึงถูกขนานนามว่า ม้าโทรจัน (Trojan horse) เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่โฆษณาให้เชื่อว่ามีประโยชน์ ทำให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดลงเครื่องด้วยตัวเอง แต่เมื่อทำงานแล้ว กลับสร้างความเสียหายแก่ระบบและข้อมูล โดยอาจเปิดประตูกลไว้ให้โปรแกรมส่วนอื่นเข้าโจมตีระบบทางอื่นได้อีกด้วย

Trojan Asteroids

เทพเจ้าหรือวีรบุรุษกรีก-โรมัน มักจะมีชื่อประดับไว้บนท้องฟ้าเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อดาวเคราะห์ทั้งเก้าและดวงจันทร์บริวาร กลุ่มดาวต่างๆ เช่น กลุ่มดาวที่มีชื่อมาจากตำนานเพอร์ซูสผู้ฆ่าเมดูซา ได้แก่กลุ่มดาว เพอร์ซูส (Perseus), แอนโดรมีดา (Andromeda), ซีฟูส (Cepheus), แคสสิโอเปีย (Cassiopeia), เพกาซัส (Pegasus), เมดูซา (Medusa) ฯลฯ หรือดาวเคราะห์น้อยอย่าง ซีรีส (Ceres), พัลลัส (Pallas), อีรอส (Eros) ฯลฯ

สำหรับนักรบในสงครามกรุงทรอย ก็มีที่อยู่บนท้องฟ้าเหมือนกัน คือเป็นดาวเคราะห์น้อย ไม่ใช่ในแถบดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ระหว่างวงโคจรดาวอังคารกับพฤหัสบดี แต่เป็นดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ตรงจุดเลอเกรนจ์ (Lagrangian point) L4 และ L5 ของดาวพฤหัสบดี โดยกลุ่มที่อยู่ที่จุด L4 จะได้ชื่อนักรบฝ่ายกรีก (เรียกว่า Greek node) และที่จุด L5 จะได้ชื่อนักรบฝ่ายทรอย (เรียกว่า Trojan node) รวมเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน (Trojan Asteroids) โดยดวงแรกที่พบได้ชื่อว่า 588 Achilles อยู่ในจุด L4 แต่มีข้อยกเว้นเรื่องการตั้งชื่อสำหรับดวงแรกๆ ที่พบ เนื่องจากกฎการแบ่งฝ่ายยังไม่ตั้ง คือดวงแรกที่พบในจุด Trojan node ได้ชื่อว่า 617 Patroclus ซึ่งเป็นฝ่ายกรีก และอีกดวงคือ 624 Hektor อยู่ในบริเวณ Greek node

หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยโทรจัน และทฤษฎีของจุดเลอเกรนจ์ ก็มีแหล่งข้อมูลบนเว็บอยู่พอสมควร:

อ้างอิง

  1. Edith Hamilton. Mythology. Mentor, Penguin Books. 1969.
  2. นายตำรา ณ เมืองใต้ แปล. อัลเฟรด เจ. เชิร์ช เล่าความ. โฮเมอร์ แต่ง. อีเลียด (ILIAD). ดอกหญ้า. 2536 (1993).
  3. H. D. F. Kitto. The Greeks. Penguin Books. 1957.
  4. William Smith. Classical Dictionary. Wordsworth. 1996.
  5. Mary Wood Cornog. Merriam Webster's Vocabulary Builder. Merriam-Webster. 1994.
  6. Webster's Encyclopedic Unabridged Dictionary of the English Language. Merriam-Webster. 1989.
  7. นพพร สุวรรณพานิช. สันติ อิศโร. พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย ฉบับตำนานคำ. สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. 2542 (1999).