Next Previous Contents

3. ภาษาไทยกับ LaTeX

การใช้ภาษาไทยกับ LaTeX ยังไม่ค่อยมีใครสนใจมากเท่าที่ควรเนื่องจากผู้ใช้ (end-user) ส่วนใหญ่มักใช้ word-processor ซึ่งเมื่อเทียบกับ LaTeX แล้ว, LaTeX จะใช้ยากกว่า, แต่ถ้าผู้อ่านใช้ LaTeX มาระยะหนึ่งแล้วจะรู้สึกว่า LaTeX ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเลย และ LaTeX file เป็นไฟล์ที่อ่านแล้วเข้าใจได้ รู้ว่า computer จะจัดการกับเอกสารที่เราเขียนอย่างไร.

ความพยายามที่จะใช้ภาษาไทยกับ TeX มีมานานแล้วทั้งกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติคือกลุ่ม USL และ RMIT ตามลำดับ. กลุ่ม USL ได้เขียนฟอนต์ภาษาไทยโดยใช้ภาษา METAFONT ซึ่งเมื่อนำมาคอมไพล์ด้วยจะได้ .tfm และ .pk ซึ่งนำมาใช้กับ TeX ได้โดยตรง แต่ฟอนต์ของกลุ่ม USL มีเพียงแบบเดียวและขาดความสวยงามอยู่บ้าง ในขณะที่ METAFONT ของกลุ่ม RMIT ซึ่งทำโดยชาวต่างชาติมีหลายแบบหลายขนาดและยังมี macro ซึ่งทำให้เรียงพิมพ์ภาษาไทยได้ทันที. แต่ขาดตรงที่ไม่ได้ใช้แป้นพิมพ์ภาษาไทยในการเรียงพิมพ์ และเหมาะสมกับการเรียงพิมพ๎ที่มีภาษาไทยปะปนอยู่บ้างเล็กน้อยเท่านั้น.

3.1 ttex

อาจารย์มานพ วงศ์สายสุวรรณ มีความคิดที่จะใช้ภาษาไทยกับ LaTeX ขณะที่กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Tokyo Institute of Technology (TIT) ประเทศญี่ปุ่น, โดยการแปลงฟอนต์ AFM ภาษาไทยที่มีขายตามท้องตลาดให้เป็น TFM และเขียน perl script ชื่อ ttex ให้ทำหน้าที่แปลงรหัสภาษาไทยจาก 8 บิทให้เป็น 7 บิท (LaTeX ขณะนั้นยังไม่สามารถรับอักษร 8 บิทได้) และจัดรหัสของอักขระแถวบนให้สวยงาม. ส่วนการตัดคำระหว่างบรรทัดนั้นยกให้เป็นหน้าที่ของผู้เขียน LaTeX file. หลังจากที่ผ่าน filter นี้แล้วก็นำไฟล์ที่ได้ส่งต่อให้ LaTeX จัดการ ต่อไป เราก็จะได้ .dvi ไฟล์. จากนั้นใช้ dvips แปลง .dvi ไฟล์ให้เป็นไฟล์แบบ Postscript แล้วพิมพ์ออกทางปรินเตอร๎ได้. แต่ ttex ยังมีปัญหาอยู่บ้างคือ เรื่องการตัดคำระหว่างบรรทัด, ไม่สามารถดูงานผ่าน X window ได้, มีการแปลงเป็นรหัส 7 บิททำให้ข้อมูลใหญ่เกินความจำเป็น และยังไม่มี macro สำหรับ TeX ภาษาไทย.

3.2 cttex

ต่อมาภายหลัง, คุณวุฒิชัย อัมพรอร่ามเวทย์ พัฒนา ttex ต่อโดยเขียน filter ใหม่ด้วยภาษา C ชื่อ cttex. ซึ่งทำให้การทำงานเร็วขึ้นกว่า ttex. เพิ่มการตัดคำระหว่างบรรทัดโดยอาศัยพจนานุกรมในการตัดคำ. นอกจากนั้นคุณวุฒิชัยยังสร้างบิทแมทฟอนต์แบบ .pk ขึ้นจาก Postscript ฟอนต์โดยอาศัยซอฟต์แวร์ gsf2pk ทำให้ .dvi ไฟล์ที่มีความเป็น independent มากขึ้น, คือสามารถ ดู(preview)บน X window ได้. มีการพัฒนา macro ชื่อ thai.sty เพื่อใช้ตัวหนาตัวเอียง และภาษาไทยในหัวข้อได้ง่ายขึ้น. ในระยะหลัง LaTeX สามารถรับรหัส 8 บิทได้ จึงไม่มีความเป็นที่จะแปลงเป็นรหัสเป็น 7 บิทอีกต่อไป. การพัฒนา Thai LaTeX ในช่วงนั้นนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญทีเดียวสำหรับการใช้ภาษาไทยกับ LaTeX

(ข้อมูลจาก "รู้จักกับ Typesetter ภาษาไทย ThaiTeX" โดย มานพ วงศ์สายสุวรรณ อาจารย์ภาควิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิตยสาร "ศักยภาพ" กันยายน 2538. นิตยสาร "ศักยภาพ" เป็นนิตยสารของสมาคมนักวิชาชีพไทยในญี่ปุ่นซึ่งเคยใช้ LaTeX ในการทำนิตยสาร นับเป็นความพยายามครั้งแรกที่จะรณรงค์การใช้ LaTeX ในหมู่คนไทย. ปัจจุบันไม่ได้ใช้ LaTeX ในการทำนิตยสารแล้วเนื่องจากขาดบุคคลที่ชำนาญในการใช้.)

3.3 ภาษาไทยกับ LaTeX ในปัจจุบัน

เมื่อต้นปี 1998 ที่ผ่านมา คุณวุฒิชัยได้นำไฟล์ต่างๆที่จำเป็นในการใช้ภาษาไทยกับ LaTeX มารวบรวมอีกครั้ง ซึ่งจากการที่ LaTeX พัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้การใช้ภาษาไทยกับ LaTeX มีความคล่องตัวขึ้นทุกที. ปัจจุบัน LaTeX สามารถใช้ Postscript(Type1) ฟอนต์ได้มากขึ้น เช่นถ้าไม่มีฟอนต์ .pk ในระบบ xdvi สามารถเรียกโปรแกรม gsf2pk แปลง Type1 (.pfa, .pfb) ให้เป็น .pk ได้โดยไม่จำเป็นต้องเตรียม .pk ไว้ล่วงหน้า.


Next Previous Contents