บรรณานุกรม

ผมยกคำพูดหลายแห่งมาจากหนังสืออมตะของ เฟรดเดอริก พี. บรูกส์ ชื่อ The Mythical Man-Month เพราะแนวคิดของเขายังต้องการการพิสูจน์ต่อไปในหลายๆ เรื่อง ผมขอแนะนำอย่างยิ่ง ให้อ่านฉบับครบรอบ 25 ปีจาก Addison-Wesley (ISBN 0-201-83595-9) ซึ่งเพิ่มบทความ ``No Silver Bullet'' (ไม่มียาครอบจักรวาล) ปี 1986 ของเขา

ฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่นี้ ยังปิดท้ายด้วยการหวนรำลึกเมื่อผ่านไป 20 ปี อันเป็นบทที่ประเมินค่าไม่ได้ ในบทดังกล่าว บรูกส์ยอมรับอย่างจริงใจเกี่ยวกับการตัดสินเล็กน้อยในเนื้อหาดั้งเดิมซึ่งไม่ผ่านการทดสอบของห้วงเวลา ผมอ่านบทหวนรำลึกนี้ครั้งแรกหลังจากที่รุ่นแรกของบทความนี้เสร็จไปเยอะแล้ว และต้องประหลาดใจที่ได้พบว่า บรูกส์ได้ถือว่ากระบวนการที่คล้ายตลาดสดเป็นผลมาจากไมโครซอฟท์! (อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้ว การผูกโยงดังกล่าวกลายเป็นความผิดพลาด ในปี 1998 เราได้รู้จาก เอกสารวันฮัลโลวีน ว่าชุมชนนักพัฒนาภายในของไมโครซอฟท์นั้น แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่ามากมาย ซึ่งการเข้าถึงซอร์สโดยทั่วไปที่จำเป็นสำหรับการทำงานแบบตลาดสดนั้น ยังเป็นไปไม่ได้เลย)

หนังสือของ เจอรัลด์ เอ็ม. เวนเบิร์ก ชื่อ The Psychology Of Computer Programming (จิตวิทยาของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์) (New York, Van Nostrand Reinhold 1971) ได้เสนอแนวคิดที่ออกจะโชคร้ายที่ได้ชื่อว่า ``การเขียนโปรแกรมแบบไร้อัตตา'' ถึงแม้เขาจะไม่มีวี่แววว่าจะเป็นคนแรกที่ตระหนักถึงความสูญเปล่าของ ``หลักแห่งการบังคับบัญชา'' แต่เขาก็อาจเป็นคนแรกที่มองเห็นและโต้ประเด็นนี้ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ

ริชาร์ด พี. เกเบรียล ซึ่งได้ตรึกตรองเกี่ยวกับวัฒนธรรมยูนิกซ์ก่อนยุคลินุกซ์ ได้โต้แย้งอย่างลังเล ถึงข้อได้เปรียบของรูปแบบคล้ายตลาดสดในบทความปี 1989 ชื่อ ``LISP: Good News, Bad News, and How To Win Big'' (LISP: ข่าวดี, ข่าวร้าย, และวิธีชนะอย่างยิ่งใหญ่'') ของเขา แม้จะเก่าแล้วในบางเรื่อง แต่บทความนี้ก็ยังเป็นที่ยกย่องในหมู่แฟนๆ ภาษา LISP (รวมถึงผมด้วย) ผู้ร่วมแสดงความเห็นท่านหนึ่งเตือนผมว่า ตอนที่ชื่อ ``Worse Is Better'' (แย่กว่าดีกว่า) แทบจะเป็นการเก็งการเกิดของลินุกซ์ทีเดียว บทความดังกล่าวสามารถอ่านในเว็บได้ที่ http://www.naggum.no/worse-is-better.html

หนังสือของ เดอ มาร์โค และ ลิสเตอร์ ชื่อ Peopleware: Productive Projects and Teams (พีเพิลแวร์: โครงการและทีมงานอุดมผลงาน) (New York; Dorset House, 1987; ISBN 0-932633-05-6) เป็นอัญมณีมีค่าที่ได้รับความชื่นชมน้อยกว่าที่ควร ซึ่งผมยินดีที่ได้เห็น เฟรด บรูกส์ อ้างถึงในบทหวนรำลึกของเขา แม้สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับชุมชนลินุกซ์หรือโอเพนซอร์สน้อยมาก แต่แนวคิดของผู้เขียนเกี่ยวกับเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับงานสร้างสรรค์ ก็เป็นสิ่งที่เฉียบแหลม และคุ้มค่าสำหรับใครก็ตามที่พยายามจะนำข้อดีของรูปแบบตลาดสดไปใช้ในบริบทเชิงพาณิชย์

ท้ายที่สุด ผมต้องยอมรับว่า ผมเกือบจะเรียกบทความนี้ว่า ``The Cathedral and the Agora'' จริงๆ โดยคำว่า agora นี้ เป็นภาษากรีก ใช้เรียกตลาดเปิดโล่ง หรือที่ประชุมสาธารณะ บทความสัมมนาชื่อ ``agoric systems'' ของ มาร์ค มิลเลอร์ และ เอริก เดร็กซ์เลอร์ ซึ่งได้บรรยายคุณสมบัติที่อุบัติขึ้นของระบบนิเวศน์คอมพิวเตอร์ที่คล้ายตลาด ได้ช่วยให้ผมเตรียมพร้อมสำหรับการคิดอย่างชัดเจน เกี่ยวกับปรากฏการณ์เทียบเคียงในวัฒนธรรมโอเพนซอร์ส เมื่อลินุกซ์มากระตุ้นเตือนผมในห้าปีต่อมา บทความนี้อ่านได้บนเว็บที่ http://www.agorics.com/agorpapers.html