ปัญหาของอัตตา

ในตอนต้นของบทความนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงการเรียนรู้ที่ปรับเปลี่ยนได้ของวัฒนธรรม ว่ามักจะสวนทางกับอุดมการณ์ในจิตสำนึก เราได้เห็นตัวอย่างหลักๆ ของเรื่องนี้มาแล้วจากเรื่องของจารีตประเพณีการถือครองตามทฤษฎีของล็อค ที่มีการดำเนินตามอย่างกว้างขวาง ถึงแม้จะเป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในสัญญาอนุญาตมาตรฐานทั้งหลายก็ตาม

ผู้เขียนยังได้สังเกตอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์นี้ เมื่อได้สนทนาถึงการวิเคราะห์เกมแห่งชื่อเสียงกับเหล่าแฮ็กเกอร์ คือการที่แฮ็กเกอร์หลายคนต่อต้านการวิเคราะห์นี้ และแสดงความลังเลอย่างเห็นได้ชัด ที่จะยอมรับว่าพฤติกรรมของพวกเขาถูกกระตุ้นด้วยความกระหายชื่อเสียงในหมู่ชน หรือที่ผู้เขียนขอเรียกอย่างไม่ได้พิจารณาถี่ถ้วนนักว่า `การสนองอัตตา' (ego satisfaction) ไปก่อน

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงประเด็นหนึ่งที่สำคัญในวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ วัฒนธรรมนี้ไม่เชื่อถือและเหยียดหยามการใช้อัตตาและแรงกระตุ้นจากอัตตา การโฆษณาตัวเองมีแนวโน้มที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร้ความปรานี แม้จะเป็นกรณีที่ชุมชนอาจมีทีท่าที่จะได้ผลประโยชน์บางอย่างก็ตาม และอันที่จริง ความเหยียดหยามนี้รุนแรงจนกระทั่ง `คนตำแหน่งใหญ่' และผู้อาวุโสของวัฒนธรรมนี้ จำเป็นต้องพูดจานุ่มนวลและถ่อมตัวอย่างมีอารมณ์ขันแทบทุกครั้ง เพื่อรักษาสถานภาพของตัวเองไว้ การที่ทัศนคติแบบนี้สอดรับกันกับโครงสร้างของแรงจูงใจที่ดำเนินบนพื้นฐานของอัตตาเกือบทั้งหมดอย่างเห็นได้ชัดได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องการคำอธิบายเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่าส่วนใหญ่ของเรื่องนี้มีที่มาจากทัศนคติแง่ลบของชาวยุโรปและอเมริกันที่มีต่อ `อัตตา' ส่วนผสมของวัฒนธรรมของแฮ็กเกอร์ส่วนใหญ่สอนพวกเขาว่า การปรารถนาการสนองอัตตาเป็นแรงกระตุ้นที่ผิด (หรืออย่างน้อยก็ไม่มีวุฒิภาวะ) อัตตาเช่นนั้น อย่างดีที่สุดก็พอทนได้แบบอิหลักอิเหลื่อในหมู่พวกเอาแต่ใจตัวด้วยกันเท่านั้น และมักจะแสดงถึงความป่วยทางจิต เฉพาะการแสดงออกอย่างเหมาะสมและการเปลี่ยนรูปแบบ เช่น ``ชื่อเสียงในหมู่ชน'', ``ความเคารพตนเอง'', ``ความเป็นมืออาชีพ'' หรือ ``ความภาคภูมิในความสำเร็จ'' เท่านั้น ที่จะเป็นที่ยอมรับ

ผู้เขียนสามารถเขียนบทความได้อีกเรื่องหนึ่งทีเดียว เกี่ยวกับรากอันง่อนแง่นของมรดกทางวัฒนธรรมส่วนนี้ และภัยมากมายของการหลอกตัวเองของเรา โดยเชื่อ (อย่างตรงข้ามกับหลักฐานทางจิตวิทยาและพฤติกรรมทั้งหมด) ว่าพวกเรามีแรงกระตุ้นที่ `ไร้อัตตา' อย่างแท้จริงจริงๆ บางทีผู้เขียนอาจจะเขียนไปแล้ว ถ้า Friedrich Wilhelm Nietzsche และ Ayn Rand ไม่ได้เขียนงานอันยอดเยี่ยม (ไม่ว่าพวกเขาจะล้มเหลวในงานอื่นเช่นไรก็ตาม) ในการทำลายภาพของ `ความรักผู้อื่น' ลงเหลือเพียงความสนใจส่วนตัวชนิดที่ไม่รู้ตัวเท่านั้น

แต่ผู้เขียนไม่ได้มุ่งเขียนเกี่ยวกับปรัชญาหรือจิตวิทยาเกี่ยวกับจริยธรรมในที่นี้ ดังนั้น ผู้เขียนจะเพียงสังเกตชนิดเล็กๆ ของภัยของความเชื่อที่ว่าอัตตาเป็นสิ่งเลว ซึ่งก็คือว่า: มันได้สร้างความยากลำบากทางอารมณ์ต่อแฮ็กเกอร์ทั้งหลาย ที่จะทำความเข้าใจพลวัตทางสังคมของวัฒนธรรมของตนเองอย่างรู้ตัว!

แต่เรายังตรวจสอบเส้นทางนี้ไม่เรียบร้อยดีนัก ข้อห้ามของวัฒนธรรมรอบข้างต่อพฤติกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยอัตตา ถูกเน้นในวัฒนธรรม (ย่อย) ของแฮ็กเกอร์มากเสียจนน่าสงสัยว่ามีกลไกแบบแปรเปลี่ยนพิเศษบางอย่างสำหรับแฮ็กเกอร์ แน่นอนว่าข้อห้ามที่ว่านี้จะอ่อนกว่า (หรือไม่มีอยู่เลย) ในวัฒนธรรมการให้อื่น เช่น วัฒนธรรมในหมู่นักแสดง หรือในหมู่มหาเศรษฐี