อุดมการณ์ต่างๆ ของแฮ็กเกอร์

อุดมการณ์ของวัฒนธรรมโอเพนซอร์สบนอินเทอร์เน็ต (สิ่งที่แฮ็กเกอร์บอกว่าเชื่อ) เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนในตัวเอง สมาชิกทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า โอเพนซอร์ส (กล่าวคือ ซอฟต์แวร์ที่แจกจ่ายได้อย่างเสรี และสามารถพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนตามความต้องการที่เปลี่ยนไปได้) เป็นสิ่งที่ดี และควรค่าแก่การร่วมกันลงแรงอย่างแข็งขัน ความเห็นพ้องนี้นี่เอง ที่เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมนี้ของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ดี เหตุผลของแต่ละคนหรือแต่ละวัฒนธรรมย่อยที่สนับสนุนความเชื่อดังกล่าว กลับแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ความแตกต่างหนึ่งคือระดับความจริงจังที่จะยึดถือ ว่าการพัฒนาแบบโอเพนซอร์สเป็นเพียงหนทางที่สะดวกที่จะไปสู่เป้าหมาย (คือเป็นเครื่องมือที่ดี เป็นของเล่นที่สนุก และเป็นเกมที่น่าเล่น) หรือคือเป้าหมายในตัวของมันเอง

คนที่จริงจังมากอาจจะบอกว่า ``ซอฟต์แวร์เสรีคือชีวิตของฉัน! ฉันเกิดมาเพื่อสร้างโปรแกรมและทรัพยากรข้อมูลที่สวยงามใช้ประโยชน์ได้ และให้เปล่า'' คนที่จริงจังปานกลางอาจจะพูดว่า ``โอเพนซอร์สเป็นสิ่งที่ดีที่ฉันเต็มใจสละเวลาช่วยให้มันเกิด'' ส่วนคนที่จริงจังน้อยอาจจะบอก ``อืมม์ โอเพนซอร์สบางทีก็ดีเหมือนกันนะ ฉันก็เล่นกับมันและเคารพผู้คนที่สร้างมันขึ้นมา''

ความแตกต่างอีกมุมหนึ่งคือระดับความเป็นปฏิปักษ์กับซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ และ/หรือ บริษัทที่เห็นได้ชัดว่าครอบครองตลาดซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์อยู่

คนที่ต่อต้านการค้ามากๆ อาจจะบอกว่า ``ซอฟต์แวร์พาณิชย์คือการปล้นและหมกเม็ด ฉันเขียนซอฟต์แวร์เสรีก็เพื่อจบความชั่วร้ายนี้'' คนที่ต่อต้านการค้าปานกลาง อาจจะพูดว่า ``ซอฟต์แวร์พาณิชย์โดยทั่วไปก็โอเค เพราะโปรแกรมเมอร์สมควรได้รับค่าตอบแทน แต่บริษัทที่แถซอฟต์แวร์ห่วยๆ ไปมา โดยทิ้งน้ำหนักตัวเองใส่ชาวบ้าน คือพวกชั่วร้าย'' ส่วนคนที่ไม่ต่อต้านการค้าเลย อาจจะบอก ``ซอฟต์แวร์พาณิชย์ก็โอเค แต่ฉันเขียนซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สเพราะฉันชอบกว่า'' (ทุกวันนี้ ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคโอเพนซอร์สหลังจากปล่อยรุ่นแรกของบทความนี้สู่สาธารณะ ใครบางคนอาจจะเคยได้ยินด้วยว่า ``ซอฟต์แวร์พาณิชย์ก็ดีนะ ตราบใดที่ฉันยังได้ซอร์ส หรือมันยังทำงานตามที่ฉันต้องการ'')

ในวัฒนธรรมโอเพนซอร์ส มีทัศนคติครบทั้งเก้าแบบที่เกิดจากการจับคู่ความเห็นในเรื่องทั้งสอง การชี้ความแตกต่างตรงนี้มีความหมาย เพราะมันหมายถึงวาระ พฤติกรรมการปรับตัวและการให้ความร่วมมือที่แตกต่างกันของแต่ละคน

ตามนัยประวัติแล้ว ภาคที่เห็นได้ชัดและมีระเบียบแบบแผนมากที่สุดของวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ก็คือ กลุ่มที่จริงจังมากและต่อต้านการค้า มูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี (Free Software Foundation—FSF) ที่ก่อตั้งโดย ริชาร์ด เอ็ม. สตอลแมน (Richard M. Stallman—RMS) ได้ให้แรงสนับสนุนอย่างมากต่อการพัฒนาแบบโอเพนซอร์สตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ซึ่งรวมถึงเครื่องมืออย่าง Emacs และ GCC ที่ยังคงเป็นพื้นฐานของโลกโอเพนซอร์สบนอินเทอร์เน็ต และมีทีท่าจะคงอยู่ต่อไปในอนาคต

เป็นเวลาหลายปีที่ FSF ได้เป็นศูนย์รวมที่สำคัญที่สุดเพียงแห่งเดียวของการทำงานโอเพนซอร์ส ซึ่งได้ผลิตเครื่องมือจำนวนมากที่ยังคงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของตัววัฒนธรรม นอกจากนี้ FSF ยังเป็นผู้สนับสนุนโอเพนซอร์สในรูปแบบสถาบันที่มองเห็นได้จากภายนอกวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์เพียงแห่งเดียวเป็นเวลายาวนาน FSF ได้บัญญัติคำว่า `ซอฟต์แวร์เสรี' (free software) อย่างได้ผล โดยมีเจตนาลึกๆ ที่จะให้เกิดแรงปะทะ (ซึ่งฉลากใหม่ `โอเพนซอร์ส' (open source) มีเจตนาลึกเท่ากันที่จะหลีกเลี่ยง)

ดังนั้น ภาพที่ปรากฏของวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ทั้งจากภายในและภายนอก FSF จึงมีแนวโน้มที่จะแสดงเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยทัศนคติที่จริงจังและความมุ่งหวังที่จะต่อต้านการค้าของ FSF แม้ตัว RMS เองจะปฏิเสธว่าไม่ได้ต่อต้านการค้า แต่คนทั่วไปก็อ่านความเคลื่อนไหวต่างๆ ของเขาออกมาเช่นนั้น รวมทั้งสาวกที่เสียงดังที่สุดของเขาหลายคน การขับเคลื่อนที่ทรงพลังและชัดแจ้งของ FSF ที่จะ ``กระทืบการเก็บกักซอฟต์แวร์ให้จมดิน!'' กลายเป็นตัวแทนที่ชัดที่สุดของอุดมการณ์แฮ็กเกอร์ และ RMS ก็กลายเป็นตัวแทนที่ชัดที่สุดของผู้นำของวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์

ข้อกำหนดในสัญญาอนุญาตของ FSF คือ ``General Public License'' (GPL) นั้น แสดงทัศนคติดังกล่าวของ FSF อย่างชัดแจ้ง และก็เป็นสัญญาอนุญาตที่ใช้กันกว้างขวางที่สุดในโลกโอเพนซอร์สด้วย Metalab (หรือ Sunsite ในอดีต) ของมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา เป็นแหล่งเก็บซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในโลกของลินุกซ์ ในเดือนกรกฎาคม 1997 ประมาณครึ่งหนึ่งของแพกเกจซอฟต์แวร์ใน Sunsite ที่ระบุสัญญาอนุญาต เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ GPL

แต่ FSF ไม่ใช่ทั้งหมดของโอเพนซอร์ส ยังมีผู้ที่ส่งเสียงน้อยกว่า เผชิญหน้าน้อยกว่า และเป็นมิตรกับตลาดมากกว่าอยู่เสมอในแวดวงแฮ็กเกอร์ นักปฏิบัติทั้งหลายไม่ได้เคร่งครัดกับอุดมการณ์เท่ากับธรรมเนียมทางวิศวกรรมที่พบในความพยายามแรกๆ ของโอเพนซอร์สซึ่งเกิดก่อน FSF เสียอีก ธรรมเนียมเหล่านี้ที่สำคัญที่สุดก็คือ วัฒนธรรมทางเทคนิคที่เกี่ยวพันกันของยูนิกซ์กับอินเทอร์เน็ตก่อนยุคพาณิชย์

ทัศนคติโดยปกติของนักปฏิบัติจะต่อต้านการค้าแค่ปานกลาง และความสลดใจต่อโลกธุรกิจก็ไม่ใช่ที่การ `หมกเม็ด' โดยตรง แต่เป็นการที่โลกดันทุรังปฏิเสธวิถีทางที่ดีกว่าที่ประกอบด้วยยูนิกซ์ มาตรฐานเปิด และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ถ้าจะมีสิ่งที่นักปฏิบัติเกลียดชัง ก็ไม่น่าจะใช่ `พวกหมกเม็ด' โดยทั่วไป แต่น่าจะเป็นราชาแห่งวงการซอฟต์แวร์อย่างไอบีเอ็มในอดีต และไมโครซอฟท์ในปัจจุบันมากกว่า

สำหรับนักปฏิบัติแล้ว GPL มีความสำคัญในฐานะเครื่องมือ ไม่ใช่ในฐานะตัวของมันเอง และคุณค่าของมันก็ไม่ใช่ในฐานะอาวุธต่อต้าน `การหมกเม็ด' แต่เป็นเครื่องมือสำหรับกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันซอฟต์แวร์และการเติบโตของ การพัฒนาแบบตลาดสด นักปฏิบัติจะให้คุณค่ากับเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี มากกว่าเกลียดชังการพาณิชย์ และอาจใช้ซอฟต์แวร์พาณิชย์คุณภาพสูงโดยไม่รู้สึกขัดกับอุดมการณ์ ในขณะเดียวกัน ประสบการณ์โอเพนซอร์สก็ได้สอนให้เขาได้รู้ถึงมาตรฐานของคุณภาพทางเทคนิคที่ซอฟต์แวร์ปิดน้อยตัวจะบรรลุได้

เป็นเวลาหลายปีที่มุมมองของนักปฏิบัติถูกแสดงออกมาในวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ ด้วยกระแสต่อต้านการใช้ GPL หรือกิจกรรมต่างๆ ของ FSF โดยทั่วไป โดยในช่วงตลอดทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 นั้น ทัศนคตินี้ดูจะประสานกันกับแฟนๆ Berkeley Unix และผู้ที่ใช้สัญญาอนุญาตแบบ BSD รวมไปถึงความพยายามยุคแรกที่จะสร้างยูนิกซ์โอเพนซอร์สจากซอร์สของ BSD แต่ในที่สุด ความพยายามเหล่านี้ก็ไม่สามารถสร้างชุมชนแบบตลาดสดที่ใหญ่พอ แล้วก็แตกเป็นเสี่ยงๆ และไร้ประสิทธิผล

จนกระทั่งเกิดการบูมของลินุกซ์ในช่วงต้น 1993–1994 แนวคิดนักปฏิบัติจึงได้กลับมาเรืองอำนาจ แม้ ลินุส ทอร์วาลด์ จะไม่เคยแสดงความต่อต้าน RMS แต่เขาก็ได้ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง ด้วยการมองการเติบโตของลินุกซ์เชิงพาณิชย์อย่างเป็นมิตร ด้วยการสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์พาณิชย์คุณภาพสูงอย่างชัดแจ้งในงานเฉพาะ และด้วยการหยอกเอินพวกเคร่งและคลั่งลัทธิในแวดวงอย่างสุภาพ

ผลข้างเคียงของการเติบโตอย่างรวดเร็วของลินุกซ์ก็คือ การดึงดูดแฮ็กเกอร์หน้าใหม่จำนวนมากเข้ามาร่วม โดยที่ลินุกซ์คือสิ่งที่พวกเขาให้ความภักดี และวาระต่างๆ ของ FSF กลายเป็นเรื่องของอดีต และถึงแม้คลื่นลูกใหม่ของเหล่าแฮ็กเกอร์ลินุกซ์จะเรียกระบบของตัวเองว่า ``คำตอบของยุค GNU'' (the choice of a GNU generation) แต่ส่วนมากมีแนวโน้มจะเลียนแบบทอร์วาลด์มากกว่าสตอลแมน

ในที่สุด กลุ่มผู้เคร่งอุดมการณ์ที่ต่อต้านการค้าค่อยๆ พบว่าตัวเองกลายเป็นชนกลุ่มน้อยขึ้นเรื่อยๆ ความเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัดเมื่อเน็ตสเคปประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 1998 ว่าจะแจกจ่าย Navigator 5.0 ในรูปซอร์สโค้ด เรื่องนี้ได้กระตุ้นความสนใจ `ซอฟต์แวร์เสรี' ในภาคธุรกิจ การเรียกร้องที่ตามมา ให้วัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ถือโอกาสสำคัญนี้เปลี่ยนฉลากผลิตภัณฑ์จาก `ซอฟต์แวร์เสรี' (free software) เป็น `โอเพนซอร์ส' (open source) ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว จนต้องทำให้ทุกคนต้องประหลาดใจ

ในการพัฒนาอีกด้านหนึ่งที่เสริมกัน กลุ่มนักปฏิบัติได้เกิดศูนย์รวมขึ้นหลายศูนย์ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ชุมชนใหม่หลายแห่งที่มีแนวคิดและผู้นำเป็นของตนเองก็เริ่มแตกหน่อออกจากรากของยูนิกซ์/อินเทอร์เน็ต ในจำนวนนี้ แหล่งที่สำคัญที่สุดหลังจากลินุกซ์ได้แก่วัฒนธรรมชุมชน Perl ของ ลาร์รี วอลล์ (Larry Wall) อีกกลุ่มหนึ่งที่ถึงจะเล็กกว่าแต่ก็สำคัญ คือธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดรอบๆ ภาษา Tcl ของ John Osterhout และภาษา Python ของ Guido van Rossum ชุมชนทั้งสามได้แสดงอิสรภาพของอุดมการณ์ด้วยการสร้างสัญญาอนุญาตของตัวเอง โดยไม่ใช้ GPL