ทฤษฎีสำส่อน ปฏิบัติเคร่งครัด

แม้กระนั้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็ยังคงมีทฤษฎีสาธารณะแบบกว้างๆ ที่อธิบายความหมายของ `ซอฟต์แวร์เสรี' หรือ `โอเพนซอร์ส' การแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดของทฤษฏีสามัญนี้ สามารถพบได้ในสัญญาอนุญาตโอเพนซอร์สทั้งหลาย ซึ่งต่างก็มีองค์ประกอบที่สำคัญๆ ร่วมกัน

ในปี 1997 องค์ประกอบร่วมเหล่านี้ ได้ถูกกลั่นกรองออกมาเป็น `แนวทางซอฟต์แวร์เสรีเดเบียน' (Debian Free Software Guidelines) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น นิยามโอเพนซอร์ส (Open Source Definition—OSD) ด้วยแนวทางที่กำหนดโดย OSD นี้ สัญญาอนุญาตโอเพนซอร์สใดๆ จะต้องปกป้องสิทธิ์อย่างไร้เงื่อนไขของฝ่ายใดก็ตามที่จะแก้ไขและแจกจ่ายซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส

ด้วยเหตุนี้ ทฤษฎีที่แฝงอยู่ใน OSD (และสัญญาอนุญาตที่สอดคล้องกับ OSD ทั้งหลาย เช่น GPL, สัญญาอนุญาต BSD, และสัญญาอนุญาต Artistic ของ Perl) ก็คือ ใครจะแฮ็กอะไรก็ได้ ไม่มีการห้ามกลุ่มบุคคลต่างๆ มิให้นำเอาผลิตภัณฑ์โอเพนซอร์ส (ตัวอย่างเช่น คอมไพเลอร์ภาษาซี gcc ของมูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี) มาทำซ้ำแล้วพัฒนาต่อไปอีกทางโดยที่ยังใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เดิม

การแยกเส้นทางแบบนี้เรียกว่า การฟอร์ก (fork) ลักษณะสำคัญของการฟอร์กก็คือ เกิดโครงการเดิมเพิ่มอีกชุดมาแข่งกัน โดยที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนโค้ดกันได้อีก อันทำให้ชุมชนนักพัฒนาที่มีศักยภาพต้องแตกแยก (มีปรากฏการณ์บางอย่างที่ดูเผินๆ อาจจะคล้ายการฟอร์ก แต่ไม่ใช่ เช่น การเกิดอย่างมโหฬารของดิสทริบิวชันลินุกซ์ที่แตกต่างกัน การฟอร์กเทียมๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดโครงการแยกกันก็จริง แต่ทั้งหมดก็ยังคงใช้โค้ดเกือบทั้งหมดร่วมกัน และยังคงได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของกลุ่มอื่นอย่างเต็มที่ จนไม่นับว่าเป็นความสูญเปล่า ไม่ว่าจะเป็นทางเทคนิคหรือทางสังคม จึงไม่ถือเป็นการฟอร์ก)

สัญญาอนุญาตโอเพนซอร์สไม่ได้ทำอะไรเพื่อห้ามปรามการฟอร์กเลย ยิ่งเรื่องการฟอร์กเทียมๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง และอันที่จริง ใครบางคนอาจแย้งว่า มันเชื้อเชิญให้ทำทั้งสองอย่างด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว การฟอร์กเทียมเป็นเรื่องปกติ แต่การฟอร์กจริงแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย การแตกกลุ่มในโครงการใหญ่ๆ ไม่ค่อยจะมีให้เห็น แต่ถ้ามี ก็จะมีการเปลี่ยนชื่อ และต้องผ่านการกลั่นกรองจากสาธารณะด้วย เห็นได้ชัดว่า กรณีอย่างการแยก GNU Emacs/XEmacs หรือการแยก gcc/egcs หรือการแตกเป็นเสี่ยงๆ ของกลุ่ม BSD นั้น กลุ่มผู้แยกตัวต่างรู้สึกว่าต้องต่อสู้กับจารีตอันแข็งแกร่งของประชาคมอยู่ไม่น้อย [BSD]

ในความเป็นจริง (ซึ่งขัดแย้งในตัวเองกับทฤษฎีสาธารณะที่ใครแฮ็กอะไรก็ได้) วัฒนธรรมโอเพนซอร์สมีจารีตประเพณีที่ละเอียดยิบย่อยแต่กลับไม่ค่อยยอมรับกันว่ามี ว่าด้วยเรื่องของกรรมสิทธิ์อยู่ จารีตประเพณีนี้ คอยกำหนดกฎเกณฑ์ว่าใครสามารถแก้ไขซอฟต์แวร์ได้บ้าง มีเงื่อนไขใดบ้างที่จะสามารถแก้ไขซอฟต์แวร์ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใครที่มีสิทธิ์ที่จะแจกจ่ายซอฟต์แวร์ที่แก้ไขแล้วกลับไปให้กับชุมชน

ข้อห้ามของวัฒนธรรมช่วยเน้นจารีตให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น ดังนั้น น่าจะเป็นการดีถ้าเรามาสรุปข้อห้ามที่สำคัญไว้ ณ ที่นี้:

ในส่วนที่เหลือของบทความนี้ เราจะมาตรวจสอบข้อห้ามเหล่านี้ และจารีตประเพณีเรื่องกรรมสิทธิ์กันในรายละเอียด เราจะไม่เพียงศึกษาว่ามันทำงานอย่างไร แต่จะศึกษาด้วยว่ามันได้เปิดเผยอะไรบ้างเกี่ยวกับพลวัตทางสังคมเบื้องหลัง และโครงสร้างของแรงจูงใจต่างๆ ในชุมชนโอเพนซอร์ส