ล็อคกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน

เพื่อที่จะเข้าใจแบบแผนที่กล่าวมา การสังเกตอุปมาอุปไมยในประวัติของจารีตประเพณีนี้ กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของสิ่งที่แฮ็กเกอร์สนใจ อาจจะช่วยได้ นักศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายและปรัชญาการเมืองคงจะนึกออก ว่าทฤษฎีทรัพย์สินที่แฝงอยู่ในแบบแผนดังกล่าวนั้น เหมือนกันทุกประการกับทฤษฎีกฎหมายจารีตประเพณีของแองโกล-อเมริกัน ว่าด้วยสิทธิถือครองที่ดิน!

ตามทฤษฏีดังกล่าว มีสามทางที่จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน:

ตามพื้นที่บริเวณชายขอบ ซึ่งมีที่ดินอยู่แต่ไม่เคยมีเจ้าของ ใครก็ตามสามารถเข้าครอบครองได้ด้วยการ ปักหลัก โดยออกแรงหักร้างถางพง กั้นรั้ว แล้วก็ร้องขอโฉนดของตน

วิธีปกติในการถ่ายโอนที่ดินที่จับจองแล้ว ก็คือการ ถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ กล่าวคือ รับโฉนดต่อจากเจ้าของเดิม ตามทฤษฎีนี้ แนวคิดเรื่อง `ลำดับการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์' จึงสำคัญ สิ่งที่จะพิสูจน์สิทธิครอบครองที่ดินอย่างแท้จริง ก็คือลำดับของโฉนดและการถ่ายโอนย้อนหลังกลับไปจนถึงตอนที่ที่ดินถูกปักหลักเป็นครั้งแรก

และท้ายที่สุด ทฤษฎีกฎหมายจารีตประเพณียอมรับว่า โฉนดที่ดินอาจสูญหายหรือถูกทิ้งร้าง (ตัวอย่างเช่น เมื่อเจ้าของตายลงโดยไร้ทายาท หรือหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ลำดับการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ย้อนไปจนถึงที่ดินว่างเปล่าสูญหายไป) ผืนดินที่ถูกทอดทิ้งในลักษณะนี้ อาจมีการอ้างการถือครองโดย การครอบครองปรปักษ์ (adverse possession) กล่าวคือ ใครก็สามารถย้ายเข้าครอบครอง ปรับปรุงที่ดิน และร้องขอโฉนดได้ เหมือนกับการเริ่มปักหลักใหม่

เช่นเดียวกับจารีตประเพณีของแฮ็กเกอร์ ทฤษฎีนี้ก็มีวิวัฒนาการตามธรรมชาติในบริบทที่การควบคุมจากส่วนกลางมีน้อยมากหรือไม่มีเลย มันมีการพัฒนามาตลอดช่วงพันปีจากกฎชนเผ่านอร์สและเยอรมัน แต่เนื่องจากทฤษฎีนี้ได้รับการจัดระบบและให้เหตุผลโดยนักปรัชญาการเมือง จอห์น ล็อค (John Locke) บางครั้งจึงเรียกทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีทรัพย์สินของล็อค (Lockean theory of property)

ทฤษฎีที่มีตรรกะคล้ายๆ กันนี้ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นในทุกที่ที่ทรัพย์สินมีคุณค่าทางเศรษฐกิจหรือต่อความอยู่รอด โดยที่ไม่มีอำนาจใดที่แข็งแกร่งพอจะบังคับการจัดสรรทรัพย์สินที่ขาดแคลนแบบรวมศูนย์ได้ เรื่องนี้เกิดแม้แต่กับวัฒนธรรมนักล่าสัตว์หาอาหาร ที่บางครั้งเชื่อกันแบบอุดมคติว่าไม่มีแนวคิดของ `ทรัพย์สมบัติ' ด้วย ตัวอย่างเช่น ตามประเพณีของคนป่าเผ่า !Kung San แห่งทะเลทราย Kgalagadi (เดิมคือ `Karahari') แล้ว จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในบริเวณพื้นที่ล่าสัตว์ แต่ มี การถือครองบ่อน้ำและน้ำพุ ภายใต้หลักการที่เทียบเคียงได้กับทฤษฎีของล็อค

ตัวอย่างของเผ่า !Kung San นับว่าให้บทเรียนบางอย่าง เพราะมันแสดงให้เห็นว่า จารีตประเพณีทรัพย์สินของล็อคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ผลตอบแทนที่คาดหวังจากทรัพยากรมีค่ามากกว่าต้นทุนที่ใช้ในการปกป้อง บริเวณพื้นที่ล่าสัตว์ไม่ได้กลายเป็นทรัพย์สินก็เพราะผลตอบแทนจากการล่านั้นคาดเดาได้ยากมาก และความแปรปรวนก็สูง และ (ถึงแม้จะให้ผลตอบแทนสูง) ก็ไม่ได้จำเป็นต่อการอยู่รอดแบบวันต่อวัน ในขณะที่บ่อน้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอด และเล็กพอที่จะปกป้องกรรมสิทธิ์ได้

คำว่า `noosphere' ในชื่อบทความนี้ หมายถึงอาณาเขตของความคิด เป็นพื้นที่ของความนึกคิดที่เป็นไปได้ทั้งหมด [N] สิ่งที่เราเห็นได้ว่าแฝงอยู่ในจารีตประเพณีกรรมสิทธิ์ของแฮ็กเกอร์ ก็คือทฤษฎีทรัพย์สินของล็อคในชนิดย่อยชนิดหนึ่งของ noosphere กล่าวคือพื้นที่ที่เป็นของโปรแกรมทั้งหลายนั่นเอง ดังนั้น จึงเป็นที่มาของ `homesteading the noosphere' ซึ่งทุกๆ คนที่ตั้งโครงการโอเพนซอร์สต่างกระทำ

Faré Rideau ชี้ให้เห็นอย่างถูกต้อง ว่าแฮ็กเกอร์ทั้งหลายไม่ได้ทำงานในอาณาเขตของความคิดล้วนๆ เขายืนยันว่า สิ่งที่แฮ็กเกอร์เป็นเจ้าของคือ โครงการพัฒนาโปรแกรม ซึ่งเป็นศูนย์รวมของแรงงานทางวัตถุ (การพัฒนา, การบริการ ฯลฯ) โดยมีสิ่งอื่นเชื่อมโยงด้วยอย่างชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ฯลฯ เขาจึงยืนยันว่า พื้นที่ที่ครอบครองโดยโครงการของแฮ็กเกอร์นั้น ไม่ใช่ noosphere แต่เป็นคู่ของทั้งสองอย่าง คือเป็นโครงการพัฒนาโปรแกรมที่ทำการสำรวจ noosphere ต่างหาก (ต้องขออภัยต่อนักดาราฟิสิกส์ทั้งหลายที่จะกล่าวว่า คำที่น่าจะถูกต้องตามรากศัพท์ที่ใช้เรียกพื้นที่ควบคู่นี้ น่าจะเป็นคำว่า `ergosphere' หรือ `sphere of work')

ในทางปฏิบัติแล้ว ความแตกต่างระหว่าง noosphere กับ ergosphere ไม่ได้มีความสำคัญต่อจุดมุ่งหมายของสิ่งที่เรากำลังอภิปราย และน่าสงสัยว่า `noosphere' ในความหมายบริสุทธิ์ที่ Faré ยืนยันนั้น พูดได้เต็มปากหรือไม่ว่ามีอยู่จริงในทางที่มีความหมาย คนที่จะเชื่ออาจจะต้องเป็นนักปรัชญาในแนวของพลาโตกระมัง และความแตกต่างระหว่าง noosphere กับ ergosphere จะมีความสำคัญ ในทางปฏิบัติ ก็ต่อเมื่อคุณต้องการจะยืนยันว่าความคิดทั้งหลาย (ที่เป็นองค์ประกอบของ noosphere) ไม่สามารถครอบครองได้ แต่การทำให้เป็นรูปธรรมในรูปโครงการนั้น สามารถครอบครองได้ คำถามนี้นำไปสู่ประเด็นเรื่องทฤษฎีของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของบทความนี้ (แต่กรุณาอ่าน [DF])

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน จำเป็นต้องตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่า noosphere หรือ ergosphere ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกับองค์รวมของสถานที่เสมือนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่บางครั้ง (ท่ามกลางความไม่ชอบของแฮ็กเกอร์ส่วนใหญ่) เรียกกันว่า `ไซเบอร์สเปซ' (cyberspace) ทรัพย์สินในโลกที่ว่านั้นอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์อีกอย่างหนึ่ง ที่ใกล้เคียงกับโลกของวัตถุมากกว่า กล่าวคือ ใครที่เป็นเจ้าของสื่อหรือเครื่องที่ส่วนของ `ไซเบอร์สเปซ' หนึ่งๆ พักอาศัยอยู่ ก็เป็นเจ้าของไซเบอร์สเปซชิ้นนั้นทันที

ตรรกะของล็อคเกี่ยวกับจารีตประเพณีชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แฮ็กเกอร์โอเพนซอร์สได้สังเกตจารีตประเพณีที่ตนปฏิบัติ เพื่อที่จะปกป้องผลตอบแทนบางอย่างจากความพยายามของตน ผลตอบแทนที่ว่านั้น ต้องมีความหมายมากกว่าความพยายามที่ใช้ในการปักหลักโครงการ มากกว่าต้นทุนของการดูแลประวัติของรุ่นต่างๆ ที่บันทึก `ลำดับการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์' และมากกว่าต้นทุนของการแจ้งแก่สาธารณชนและรอคอยก่อนจะถือครองโครงการที่ไร้ผู้ดูแล

นอกจากนี้ `ผลที่ได้' จากโอเพนซอร์สจะต้องเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ประโยชน์ใช้สอยของซอฟต์แวร์ แต่เป็นสิ่งอื่นที่จะถูกทำลายหรือเจือจางลงด้วยการฟอร์ก ถ้าประโยชน์ใช้สอยเป็นประเด็นสำคัญเพียงอย่างเดียวแล้วล่ะก็ จะไม่มีจารีตที่ห้ามการฟอร์ก และกรรมสิทธิ์ในโอเพนซอร์สก็จะไม่คล้ายกับสิทธิถือครองที่ดินแต่อย่างใดเลย ในความเป็นจริงแล้ว โลกอีกใบที่ว่านี้ (ที่ซึ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นสิ่งที่ได้เพียงอย่างเดียว และการฟอร์กก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด) เป็นโลกที่สัญญาอนุญาตโอเพนซอร์สทั้งหลายที่มีอยู่ต่างบุ้ยใบ้ให้มีด้วยซ้ำ

เราสามารถตัดตัวเลือกบางตัวของชนิดของผลตอบแทนออกไปก่อน เนื่องจากคุณไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างแท้จริงผ่านการติดต่อในระบบเครือข่าย การแสวงหาอำนาจย่อมไม่ใช่คำตอบแน่นอน ในทำนองเดียวกัน วัฒนธรรมโอเพนซอร์สก็ไม่มีอะไรที่คล้ายกับเงินตรา หรือมีระบบเศรษฐศาสตร์ที่ขาดแคลนอะไร ดังนั้น แฮ็กเกอร์ก็ไม่สามารถทำเพื่อสิ่งที่ใกล้เคียงกับความมั่งคั่งทางวัตถุใดๆ (เช่น การสะสมแต้มความจน) ได้เช่นกัน

แม้กระนั้น ก็ยังมีหนทางหนึ่งที่กิจกรรมโอเพนซอร์สสามารถช่วยทำให้บุคคลมั่งคั่งขึ้นได้ ซึ่งเป็นหนทางที่ให้แนวคิดที่มีคุณค่าเกี่ยวกับแรงบันดาลใจเบื้องหลัง ในบางโอกาส ชื่อเสียงที่บุคคลได้รับจากวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์สามารถกระจายออกไปในโลกแห่งความเป็นจริงในทางที่มีผลทางเศรษฐกิจได้ มันสามารถทำให้คุณได้งานดีๆ หรือได้รับการทำสัญญาเป็นที่ปรึกษา หรือได้เขียนตำราก็ได้

อย่างไรก็ดี ผลข้างเคียงชนิดนี้มีน้อยมาก และแทบจะไม่มีเลยสำหรับแฮ็กเกอร์ส่วนใหญ่ จนไม่อาจจะเชื่อได้ว่าเป็นคำอธิบายทั้งหมด ถึงแม้เราจะไม่สนใจคำประท้วงหลายต่อหลายครั้งของแฮ็กเกอร์ ว่าพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่มาจากอุดมคติหรือความรักก็ตาม

แม้กระนั้น หนทางที่ผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจที่ว่าจะมีผลก็น่าตรวจสอบ ต่อจากนี้ เราจะพบว่า ความเข้าใจในพลวัตของชื่อเสียงภายในวัฒนธรรมโอเพนซอร์ส โดยตัวของมันเอง ก็สามารถอธิบายอะไรๆ ได้ดีทีเดียว