กรรมสิทธิ์กับโอเพนซอร์ส

ความหมายของ `กรรมสิทธิ์' คืออะไร ในเมื่อทรัพย์สินสามารถทำซ้ำได้ไม่จำกัด แปรเปลี่ยนรูปได้สารพัด แถมวัฒนธรรมแวดล้อมก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพลังอำนาจ หรือเศรษฐศาสตร์ที่ขาดแคลนด้านวัตถุใดๆ เลย?

อันที่จริง ในกรณีของวัฒนธรรมโอเพนซอร์ส คำถามนี้ตอบง่ายมาก เจ้าของโครงการซอฟต์แวร์ก็คือบุคคลที่มีเอกสิทธิ์โดยการยอมรับของชุมชนในวงกว้าง ที่จะ แจกจ่ายซอฟต์แวร์ที่แก้ไขแล้ว

(ในการอภิปรายเรื่อง `กรรมสิทธิ์' ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนจะใช้คำเอกพจน์ เหมือนกับว่าทุกโครงการมีเจ้าของเพียงคนเดียว แต่ขอให้เข้าใจด้วยว่าโครงการอาจมีเจ้าของเป็นกลุ่มก็ได้ เราจะมาตรวจสอบพลวัตภายในของกลุ่มดังกล่าวในภายหลัง)

ตามสัญญาอนุญาตโอเพนซอร์สมาตรฐานแล้ว ทุกฝ่ายเท่าเทียมกันในเกมแห่งวิวัฒนาการ แต่ในทางปฏิบัติ จะมีความแตกต่างที่ยอมรับกันเป็นอย่างดี ระหว่างแพตช์ที่ `เป็นทางการ' ที่ตรวจสอบและรวมเข้าแล้วในซอฟต์แวร์ที่วิวัฒน์ไปข้างหน้า โดยผู้ดูแลที่สาธารณชนยอมรับ กับแพตช์ `เถื่อน' ของบุคคลที่สาม แพตช์เถื่อนเป็นของแปลกปลอม และมักไม่ค่อยได้รับความเชื่อถือ [RP]

เรื่องของการแจกจ่ายการแก้ไข สู่สาธารณะ เป็นเรื่องพื้นฐานที่สร้างได้ง่าย จารีตประเพณีเชื้อเชิญผู้คนให้แก้ไขซอฟต์แวร์เพื่อใช้ส่วนตัวเมื่อจำเป็น จารีตประเพณีไม่ว่าอะไรใครที่แจกจ่ายซอฟต์แวร์ที่แก้ไขแล้วในกลุ่มผู้ใช้หรือนักพัฒนากลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อใดก็ตาม ที่การแก้ไขนั้นถูกประกาศสู่ชุมชนโอเพนซอร์สโดยทั่วไป โดยชนกับต้นฉบับ นั่นแหละที่เรื่องกรรมสิทธิ์จะเป็นเรื่องขึ้นมา

โดยทั่วไปแล้ว มีสามทางที่จะได้กรรมสิทธิ์ในโครงการโอเพนซอร์ส ทางที่หนึ่ง ซึ่งชัดเจนที่สุด คือตั้งโครงการเอง เมื่อโครงการใดมีผู้ดูแลเพียงคนเดียวตั้งแต่แรกเริ่ม และผู้ดูแลนั้นก็ยังคงทำงานอยู่ จารีตประเพณีก็จะไม่แม้แต่จะยอมให้มี คำถาม ว่าใครเป็นเจ้าของโครงการ

ทางที่สองคือ ให้มีการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์นั้นให้กับคุณจากเจ้าของคนเดิม (การถ่ายโอนนี้ บางทีก็รู้จักกันในนาม `การส่งไม้' (passing the baton)) ประชาคมจะเข้าใจดีว่า เป็นหน้าที่จองเจ้าของโครงการที่จะส่งต่อโครงการให้กับผู้สืบทอดที่มีความสามารถ เมื่อเขาไม่ต้องการหรือไม่สามารถอุทิศเวลาให้กับงานพัฒนาหรือดูแลโครงการได้อีก

เป็นเรื่องสำคัญในกรณีของโครงการใหญ่ๆ ที่ต้องมีการประกาศการถ่ายโอนการควบคุมดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และถึงแม้จะไม่เคยปรากฏว่ามีชุมชนโอเพนซอร์สไหนไปก้าวก่ายการตัดสินใจของเจ้าของโครงการ แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ก็จะถือเอาความเหมาะสมตามความเห็นของสาธารณชนเป็นสำคัญ

สำหรับโครงการเล็กๆ การบันทึกการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ลงในประวัติการเปลี่ยนแปลงของโครงการที่แนบไปพร้อมกับการแจกจ่ายก็ถือว่าเพียงพอ โดยถือว่า ถ้าเจ้าของคนก่อนไม่ได้เต็มใจถ่ายโอนการควบคุมให้ เขาก็สามารถร้องขออำนาจคืนด้วยการสนับสนุนของชุมชน โดยประท้วงในที่สาธารณะภายในเวลาอันควรได้

ทางที่สามที่จะได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในโครงการ คือการสังเกตพบว่าโครงการมีสิ่งที่ควรทำต่อ แต่เจ้าของได้หายตัวไป หรือเลิกสนใจ ถ้าคุณต้องการทำงานชิ้นนั้น ก็เป็นความรับผิดชอบของคุณที่จะพยายามหาตัวเจ้าของให้พบ ถ้าคุณหาไม่พบ ก็อาจจะประกาศในที่ที่เกี่ยวข้อง (เช่น ในกลุ่มข่าว Usenet ที่ตั้งขึ้นเพื่อโปรแกรมประเภทนั้น) ว่าโครงการนั้นไร้ผู้ดูแล และคุณกำลังพิจารณารับภาระดูแลต่อ

ตามธรรมเนียมแล้ว คุณควรเว้นช่วงเวลาสักพัก ก่อนที่จะตอบการประกาศของคุณ ว่าคุณจะประกาศตัวเป็นเจ้าของคนใหม่ โดยในช่วงนี้ ถ้ามีใครบางคนประกาศว่าเขากำลังทำงานกับโครงการนี้อยู่ ก็ถือว่าเขาได้ไป ถ้ายังไม่มีใครตอบ การประกาศต่อสาธารณะมากกว่าหนึ่งครั้งก็ถือว่าเป็นมารยาทที่ดี คุณจะยิ่งได้คะแนนมารยาทมากขึ้นถ้าคุณประกาศในฟอรัมที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง (เช่น กลุ่มข่าวที่เกี่ยวข้องและเมลลิงลิสต์) และจะได้มากขึ้นอีกถ้าคุณแสดงความอดทนที่จะรอคำตอบ โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งคุณแสดงความพยายามให้เห็นมากเท่าไร ในการให้โอกาสเจ้าของคนเดิมหรือผู้อื่นที่อาจอ้างสิทธิ์ที่จะให้คำตอบ การอ้างกรรมสิทธิ์ของคุณเมื่อไร้คำตอบ ก็จะดูดีมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าคุณได้ผ่านขั้นตอนทั้งหมดนี้ท่ามกลางสายตาของชุมชนผู้ใช้ของโครงการมาแล้ว ก็จะไม่มีการคัดค้านอะไรอีก คุณก็สามารถอ้างกรรมสิทธิ์ในโครงการไร้ผู้ดูแลนี้ และสามารถบันทึกการถ่ายโอนลงในประวัติโครงการได้ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ยังปลอดภัยน้อยกว่าการรับไม้โดยตรง และคุณก็ยังไม่อาจคาดหวังว่าจะมีความชอบธรรมเต็มที่ จนกว่าคุณจะได้ลงมือปรับปรุงจนเห็นได้ชัดในสายตาของชุมชนผู้ใช้

ผู้เขียนได้สังเกตเห็นจารีตประเพณีเหล่านี้ในสถานการณ์จริงมากว่า 20 ปี ย้อนไปจนถึงประวัติศาสตร์ของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สในยุคเก่าก่อน FSF เป็นจารีตประเพณีที่มีลักษณะที่น่าสนใจมากๆ หลายประการ ประการหนึ่งคือ แฮ็กเกอร์ส่วนใหญ่ประพฤติตามนี้โดยไม่รู้ตัว และความจริงแล้ว นี่อาจเป็นการสรุปอย่างสมบูรณ์และอย่างรู้ตัวเป็นครั้งแรกที่เคยจดบันทึก

ลักษณะอีกอย่างหนึ่งสำหรับจารีตประเพณีแฝงนี้ก็คือ ทุกคนเชื่อฟังมันอย่างสม่ำเสมอในระดับที่น่าสังเกต (หรือกระทั่งน่าพิศวง) ผู้เขียนได้สังเกตวิวัฒนาการของโครงการโอเพนซอร์สมาหลายร้อยโครงการ และสามารถนับจำนวนครั้งของการฝ่าฝืนอย่างร้ายแรงที่สังเกตเห็นหรือเคยได้ยินได้ด้วยนิ้วมือของผู้เขียน

ยังมีลักษณะที่น่าสนใจประการที่สาม คือจารีตประเพณีเหล่านี้ มีการพัฒนาตามกาลเวลา และพัฒนาในทิศทางที่แน่นอน ทิศทางที่ว่านี้ เป็นไปเพื่อเอื้อให้เกิดความโปร่งใสในสาธารณะมากยิ่งขึ้น เกิดความสังวรณ์ในสาธารณะมากขึ้น และเกิดความเอาใจใส่มากขึ้นในการระวังรักษาการนับผลงานและประวัติโครงการในทางที่ (นอกเหนือจากสิ่งอื่น) สถาปนาความชอบธรรมแก่เจ้าของปัจจุบันของโครงการ

ลักษณะเหล่านี้บ่งบอกว่า จารีตประเพณีเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลของแผนการณ์แฝง หรือแบบแผนที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวัฒนธรรมโอเพนซอร์ส โดยเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดต่อแนวทางการทำงาน

มีผู้ให้ความเห็นคนแรกๆ ต่อบทความนี้ ชี้ว่าการเปรียบเทียบกับด้านตรงข้าม ระหว่างวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ในอินเทอร์เน็ตกับวัฒนธรรมนักเจาะ/ขโมย (cracker/pirate) (พวก ``warez d00dz'' ที่มุ่งเจาะเกมและขโมยข้อมูลจากระบบ bulletin board) จะช่วยทำให้เห็นภาพของแบบแผนที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในวัฒนธรรมทั้งสองได้เป็นอย่างดี เราจะกลับมาพูดถึงพวก d00dz เพื่อเปรียบเทียบในภายหลังในบทความนี้