[N] คำว่า `noosphere' เป็นศัพท์ชั้นสูงของศิลปวิทยาการในสาขาปรัชญา คำนี้ออกเสียงว่า โน-โอ-สเฟียร์ (เสียงโอสองพยางค์ พยางค์แรกยาวและเน้น พยางค์ที่สองสั้นและไม่เน้น คล้ายเสียง schwa) ถ้าคุณเคร่งครัดเรื่องการเขียนมากๆ คำนี้ก็อาจจะสะกดโดยใช้ diaresis บน `o' ตัวที่สอง เพื่อกำกับการแยกพยางค์
ในรายละเอียดแล้ว คำซึ่งแทน ``โลกแห่งความคิดของมนุษย์'' คำนี้ มาจากรากศัพท์กรีก `noos' ซึ่งหมายถึง `ความคิด' (mind), `ความฉลาด' (intelligence), หรือ `โลกทัศน์' (perception) คิดขึ้นโดย E. LeRoy ใน Les origines humaines et l'evolution de l'intelligence (Paris 1928) และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักโดยนักชีววิทยาและนักนิเวศวิทยารุ่นบุกเบิกชาวรัสเซีย ชื่อ Vladimir Ivanovich Vernadsky, (1863–1945) และจากนั้นก็โดยนักบรรพชีวินวิทยาและนักปรัชญาเยซูอิด ชื่อ Pierre Teilhard de Chardin (1881–1955) ซึ่งก็ด้วยทฤษฎีของ Teilhard de Chardin เกี่ยวกับวิวัฒนาการในอนาคตของมนุษย์ไปสู่รูปแบบของการพัฒนาทางจิตใจขั้นสุดยอดร่วมกับพระผู้เป็นเจ้านี่เอง ที่ทำให้ศัพท์คำนี้มีความเชื่อมโยงอย่างมากในปัจจุบัน
[DF] David Friedman นักคิดที่แจ่มชัดและเข้าใจง่ายที่สุดคนหนึ่งในแวดวงเศรษฐศาสตร์ปัจจุบัน ได้เขียน เค้าโครง อันยอดเยี่ยมของประวัติศาสตร์และตรรกะของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เขียนขอแนะนำบทความนี้ สำหรับเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่สนใจในหัวข้อดังกล่าว
[BSD] ความแตกต่างหนึ่งที่น่าสนใจระหว่างโลกของลินุกซ์และ BSD ก็คือ เคอร์เนลลินุกซ์ (และโปรแกรมอรรถประโยชน์ข้างเคียง) ไม่เคยมีการฟอร์ก แต่ BSD นั้นฟอร์กมาแล้วอย่างน้อยสามครั้ง สิ่งที่ทำให้ความแตกต่างนี้น่าสนใจก็คือว่า โครงสร้างทางสังคมของกลุ่ม BSD ทั้งหลายนั้น รวมศูนย์โดยมีเจตนาที่จะกำหนดสายอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน และเพื่อป้องกันการฟอร์ก ในขณะที่ชุมชนลินุกซ์ซึ่งกระจายอำนาจและรวมกันแบบหลวมๆ นั้น ไม่มีมาตรการเหล่านั้นเลย กลายเป็นว่า โครงการที่เปิดกว้างด้านการพัฒนาที่สุด ในความเป็นจริงกลับมีแนวโน้ม น้อยที่สุด ที่จะเกิดการฟอร์ก!
Henry Spencer <henry@spsystems.net>
ชี้แนะว่า โดยทั่วไปแล้ว เสถียรภาพของระบบการเมืองจะแปรผกผันกับความสูงของกำแพงที่ขวางกั้นกระบวนการทางการเมือง การวิเคราะห์ของเขาสมควรจะนำมากล่าวอ้างในที่นี้:
จุดแข็งที่สำคัญจุดหนึ่งของประชาธิปไตยที่เปิดก็คือ กลุ่มต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่จะปฏิวัติ จะพบว่าการดำเนินการเพื่อบรรลุจุดประสงค์โดยผ่านระบบนั้น ง่ายกว่าการโจมตีระบบ จุดแข็งนี้จะถูกทำลายลงอย่างง่ายดาย ถ้ามีกลุ่มบุคคลตั้งตัวกระทำการร่วมกันที่จะ `ก่อกำแพง' และทำให้กลุ่มเล็กๆ บางกลุ่มมองเห็นความคืบหน้า บางอย่าง ที่นำไปสู่เป้าหมายของพวกเขาได้ยากยิ่งขึ้น
(หลักการที่คล้ายกันนี้ พบได้ในเศรษฐศาสตร์เช่นกัน ตลาดเปิดจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นที่สุด และโดยทั่วไปจะทำให้ได้สินค้าที่ดีและถูกที่สุดด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นความสนใจหลักของบริษัทที่ปักหลักได้แล้ว ที่จะพยายามทำให้การเข้าสู่ตลาดทำได้ยากยิ่งขึ้น เช่น ด้วยการโน้มน้าวรัฐบาลให้กำหนดการทดสอบ RFI กับคอมพิวเตอร์ หรือด้วยการสร้างมาตรฐาน `ประชามติ' ที่ยุ่งยากซับซ้อน จนไม่สามารถทำให้เป็นจริงจากการเริ่มต้นใหม่ได้โดยปราศจากทรัพยากรมหาศาล ตลาดที่มีกำแพงขวางกั้นการเข้าสู่ตลาดที่แข็งที่สุด ก็จะต้องเผชิญกับการโจมตีที่รุนแรงที่สุดจากการปฏิวัติเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กรณีอินเทอร์เน็ตและกระทรวงยุติธรรม กับ Bell System เป็นต้น)
กระบวนการเปิดที่มีกำแพงขวางกั้นการเข้าร่วมที่ต่ำ จะเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าร่วมมากกว่าแยกตัว เพราะสามารถได้ผลลัพธ์โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองกับการแยกตัว ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ประทับใจเท่ากับที่ได้จากการแยกตัว แต่ก็ได้มาด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า และคนส่วนใหญ่ก็จะถือว่านั่นเป็นการแลกเปลี่ยนที่ยอมรับได้ (เมื่อรัฐบาลสเปนยกเลิกกฎหมายต่อต้านชาวบาสก์ของนายพลฟรังโก และสร้างโรงเรียนให้จังหวัดต่างๆ ของชาวบาสก์ พร้อมทั้งให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเอกเทศ ปรากฏว่า ความเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนของชาวบาสก์อันตรธานไปสิ้นแทบจะในชั่วข้ามคืน มีเพียงพวกมาร์กซิสต์หัวรุนแรงเท่านั้นที่ยังยืนยันว่านั่นยังไม่เพียงพอ)
[RP] มีรายละเอียดปลีกย่อยนิดหน่อยเกี่ยวกับแพตช์เถื่อน เราอาจแบ่งประเภทแพตช์เถื่อนออกเป็นแบบที่ `เป็นมิตร' และแบบที่ `ไม่เป็นมิตร' แพตช์ที่ `เป็นมิตร' นั้น มุ่งหมายที่จะรวมกลับเข้าไปในซอร์สสายหลักของโครงการ ภายใต้การควบคุมของผู้ดูแล (ไม่ว่าการรวมนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม) ส่วนแพตช์ที่ `ไม่เป็นมิตร' นั้น มุ่งที่จะดึงเอาโครงการไปในทิศทางที่ผู้ดูแลไม่เห็นด้วย บางโครงการ (โดยเฉพาะเคอร์เนลลินุกซ์เอง) ค่อนข้างจะปล่อยตามสบายกับแพตช์ที่เป็นมิตร หรือกระทั่งเชื้อเชิญให้แจกจ่ายแยกต่างหาก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการทดสอบแพตช์ ในทางกลับกัน แพตช์ที่ไม่เป็นมิตรเป็นการแสดงถึงการตัดสินใจที่จะแข่งกับฉบับดั้งเดิม และถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง การดูแลแพตช์ที่ไม่เป็นมิตรทั้งกระบุง มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การฟอร์กได้
[LW] ผู้เขียนเป็นหนี้ต่อ Michael Funk <mwfunk@uncc.campus.mci.net>
ที่ชี้ให้เห็นว่า ความตรงข้ามกันระหว่างวัฒนธรรมแฮกเกอร์กับจารชนนั้น ช่วยให้คำอธิบายที่ดีอย่างไร Linus Walleij ได้โพสต์การวิเคราะห์พลวัตของวัฒนธรรมของพวกเขา ซึ่งต่างจากที่ผู้เขียนวิเคราะห์ (ที่บรรยายวัฒนธรรมนั้นว่าเป็นวัฒนธรรมบนพื้นฐานของความขาดแคลน) ไว้ในบทความ A Comment on `Warez D00dz' Culture
ความต่างนี้อาจกำลังหมดไป Andrej Brandt <andy@pilgrim.cs.net.pl>
อดีตนักเจาะระบบรายงานว่า เขาเชื่อว่าวัฒนธรรมนักเจาะระบบ หรือ warez d00dz กำลังเหี่ยวแห้งตายไป เมื่อคนเก่งๆ และนักเจาะชั้นนำได้ค่อยๆ ย้ายมาสู่โลกโอเพนซอร์ส อีกหลักฐานหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ปฏิบัติการ กรกฎาคม 1999 ซึ่งทำลายแบบอย่างเดิมๆ ทิ้ง โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า `Cult of the Dead Cow' พวกเขาได้ปล่อย `Back Orifice 2000' ที่ใช้ทำลายระบบความปลอดภัยของวินโดวส์ ภายใต้สัญญาอนุญาต GPL
[HT] ในแง่ของวิวัฒนาการแล้ว แรงผลักดันของช่างฝีมือเอง (อย่างเดียวกับการเกิดคุณธรรมภายใน) อาจจะเป็นผลมาจากการที่การหลอกลวงนั้น มีความเสี่ยงสูงและสิ้นเปลือง นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการได้รวมรวมหลักฐานจากการทดลอง [BCT] ว่ามนุษย์มีตรรกะของสมองที่สร้างมาเฉพาะเพื่อตรวจจับการหลอกลวงในสังคม และก็เข้าใจได้ไม่ยากเลย ว่าทำไมบรรพบุรุษของเราจึงควรถูกเลือกไว้เพราะความสามารถในการตรวจจับการโกงนี้ ดังนั้น ถ้าใครอยากจะมีชื่อเสียงในด้านบุคลิกลักษณะที่นำมาซึ่งข้อได้เปรียบ แต่มีความเสี่ยงและต้นทุนสูง ก็เป็นการดีกว่าถ้าจะเลือกแนวทางของการมีความสามารถนั้นๆ จริงๆ แทนที่จะมีแบบปลอมๆ (``ความซื่อสัตย์คือกุศโลบายที่ดีที่สุด'')
นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการได้ชี้แนะว่า หลักการนี้อธิบายพฤติกรรมเหมือนการต่อสู้ในบาร์ ในหมู่มนุษย์ผู้ชายที่โตเต็มวัยนั้น การมีชื่อเสียงในความแข็งแรงมีประโยชน์ทั้งในทางสังคมและทางเพศ (แม้ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของนักสิทธิสตรีอย่างทุกวันนี้) อย่างไรก็ดี ความแข็งแรงที่จอมปลอมกลับเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ผลทางลบของการถูกเปิดโปงจะทำให้คนคนนั้นอยู่ในฐานะที่แย่ยิ่งกว่าการไม่เคยกล่าวอ้างอะไรเลย ต้นทุนของการหลอกลวงนั้นสูงเสียจนบางทีการปรับให้เป็นการสร้างความแข็งแรงภายใน แล้วเสี่ยงรับความบาดเจ็บสาหัสในการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ให้เห็นเลยยังจะดีเสียกว่า มีการการสังเกตที่คล้ายกันนี้ต่อเรื่องที่เป็นที่กังขาน้อยกว่าอย่างความซื่อสัตย์ด้วย
แม้ไม่ควรดูถูกรางวัลในลักษณะที่คล้ายการฝึกสมาธิของงานสร้างสรรค์ แต่ความปรารถนาของช่างฝีมืออย่างน้อยก็อาจมีลักษณะบางส่วนคล้ายกับการสร้างความแข็งแรงภายในดังกล่าว (โดยที่ลักษณะที่เป็นพื้นฐานก็คือ `ความอดทนต่องานยากลำบาก' หรืออะไรที่คล้ายกัน)
ทฤษฎีการต่อแต้มก็อาจมีความเกี่ยวข้องด้วย หางอันฉูดฉาดของนกยูง และกิ่งก้านจำนวนมากของเขากวางตัวผู้นั้น แลดูเซ็กซี่ในสายตาของตัวเมีย เพราะมันสื่อสารออกมาถึงสุขภาพที่ดีของตัวผู้ (ซึ่งหมายถึงความเหมาะสมที่จะเป็นพ่อพันธุ์ของลูกๆ ที่แข็งแรงด้วย) สิ่งที่มันพูดก็คือ: "ฉันแข็งแรงมากเสียจนสามารถจะเสียพลังงานไปมากมายสำหรับการโชว์อันฟุ่มเฟือยนี้" การให้ซอร์สโค้ดออกไปมากมาย ก็เหมือนกับการมีรถสปอร์ตสักคัน คือคล้ายกับอาภรณ์อันโอ่อ่าฟู่ฟ่าเหล่านั้น มันเป็นการให้ที่ไร้ผลตอบแทนที่ชัดเจน และอย่างน้อยก็ทำให้ผู้ให้ดูเซ็กซี่มากๆ ในทางทฤษฎี
[MH] มีการสรุปที่กระชับเกี่ยวกับลำดับชั้นของมาสโลว์และทฤษฎีที่เกี่ยวข้องบนเว็บที่ Maslow's Hierarchy of Needs
[DC] อย่างไรก็ดี ความต้องการความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้นำ อาจเป็นลักษณะของวัฒนธรรมการให้หรือวัฒนธรรมเหลือเฟือที่มีโดยทั่วไปมากกว่านั้น David Christie <dc@netscape.com>
รายงานการเดินทางไปยังเกาะรอบนอกของฟิจิไว้ว่า:
``ในตัวหัวหน้าหมู่บ้านทั้งหลายในฟิจินั้น เราสังเกตได้ถึงสไตล์ความเป็นผู้นำที่ลดตัวลงต่ำ ชนิดเดียวกับที่คุณบรรยายผู้นำโครงการโอเพนซอร์ส [...] แม้จะได้รับความเคารพอย่างมาก และแน่นอนว่าย่อมมีอำนาจแท้จริงทุกอย่างที่มีในฟิจิ แต่พวกหัวหน้าที่เราได้พบต่างแสดงความอ่อนน้อมอย่างจริงใจ และมักจะยอมรับในภาระหน้าที่ของตนราวกับนักบุญ เรื่องนี้ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก เมื่อการเป็นหัวหน้าเป็นบทบาทที่สืบทอดโดยสายเลือด ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือจากการประกวดประขันคะแนนนิยมแต่อย่างใด พวกเขาถูกฝึกฝนด้วยวิถีทางบางอย่างของตัววัฒนธรรมเอง ถึงแม้พวกเขาจะเกิดมาเพื่อเป็นผู้นำโดยตรง ไม่ได้มาจากการเลือกของผองชน'' เขาเน้นต่อไปว่า เขาเชื่อว่าคุณลักษณะของผู้นำชาวฟิจินี้ เกิดจากความยากลำบากของการบังคับขอความร่วมมือ กล่าวคือ หัวหน้าไม่มี ``บำเหน็จรางวัลชิ้นใหญ่หรือคทาอาญาสิทธิ์''
[NO] จากการสังเกตแล้ว ผู้ที่สามารถก่อตั้งโครงการที่ประสบความสำเร็จ จะได้รับเกียรติยศมากกว่าผู้ที่อาจจะทำงานในปริมาณที่เทียบเท่ากันในการแก้บั๊กหรือช่วยพัฒนาโครงการที่ประสบความสำเร็จ บทความนี้ฉบับเผยแพร่รุ่นก่อนได้ตั้งคำถามไว้ว่า ``เรื่องนี้ถือเป็นการให้คุณค่าของความพยายามอย่างสมเหตุสมผลแล้ว หรือว่าเป็นผลทางอ้อมของหลักการประกาศถิ่นอย่างไม่เจตนาที่เราได้เสนอไป ณ ที่นี้?'' มีผู้แสดงความเห็นหลายท่านได้เสนอแนะทฤษฎีที่น่าเชื่อถือ และมีใจความหลักเหมือนกัน การวิเคราะห์โดย Ryan Waldron <rew@erebor.com>
ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างที่ดี:
ในบริบทของทฤษฎีที่ดินของล็อคแล้ว ผู้ที่ก่อตั้งโครงการใหม่ที่ประสบความสำเร็จนั้น ถือว่าได้ค้นพบหรือบุกเบิกดินแดนใหม่ ซึ่งผู้อื่นสามารถเข้าไปปักหลักได้ สำหรับโครงการที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย จะมีรูปแบบผลตอบแทนที่ค่อยๆ ลดลง ซึ่งทำให้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เครดิตของการร่วมพัฒนาโครงการก็จะถูกเจือจาง จนยากที่ผู้มาทีหลังจะไต่เต้าจนได้ชื่อเสียงได้ ไม่ว่างานของเขาจะยอดเยี่ยมเพียงใดก็ตาม
ตัวอย่างเช่น ผมจะต้องทำงานดีขนาดไหน ในการแก้โค้ดของ perl เพื่อให้คนอื่นมองเห็นแม้เศษเสี้ยวของความมีส่วนร่วมของผม อย่างที่ Larry, Tom, Randall และคนอื่นๆ ได้รับมาแล้ว?
อย่างไรก็ดี ถ้าพรุ่งนี้มีโครงการใหม่ตั้งขึ้นมา [โดยคนอื่น] แล้วผมก็เป็นผู้เข้าร่วมคนแรกๆ และบ่อยๆ โอกาสที่ผมจะมีส่วนร่วมในชื่อเสียงที่มากับโครงการที่ประสบความสำเร็จนั้น ย่อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในฐานะที่ผมเข้าร่วมแต่เนิ่นๆ (โดยสมมุติว่า คุณภาพของงานที่เข้าร่วมนั้น พอๆ กัน) ผมคิดว่า เรื่องนี้คล้ายกันกับกรณีผู้ร่วมลงทุนกับไมโครซอฟท์ตอนต้นๆ เมื่อเทียบกับผู้ที่เข้าร่วมในภายหลัง ทุกคนอาจได้กำไรทั้งนั้น แต่คนที่เข้าร่วมก่อนย่อมได้มากกว่า ดังนั้น ผมจึงสนใจในระดับหนึ่งที่จะเข้าร่วม IPO ที่ใหม่และประสบความสำเร็จ มากกว่าจะเข้าร่วมในการเพิ่มทุนของหุ้นบริษัทที่มีอยู่แล้ว
การเปรียบเปรยของ Ryan Waldron สามารถขยายต่อไปได้อีก ผู้ก่อตั้งโครงการจำเป็นต้องเร่ขายความคิด ซึ่งอาจได้รับการยอมรับหรือนำไปใช้หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น เขาจึงต้องพบกับบางสิ่งที่คล้ายกับความเสี่ยงของ IPO (ที่จะเสื่อมเสียชื่อเสียง) มากกว่าคนอื่นๆ ที่เข้าช่วยโครงการที่ได้สั่งสมความเชื่อถือจากหมู่ชนมาแล้ว รางวัลสำหรับผู้ก่อตั้งจึงคงที่ แม้ว่าโดยแท้จริงแล้ว ผู้ร่วมพัฒนาจะทำงานเพิ่มเข้าไปมากกว่า เรื่องนี้เห็นได้ชัดว่าคล้ายกันกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงกับรางวัลในเศรษฐศาสตร์แบบแลกเปลี่ยน
ผู้ร่วมแสดงความเห็นท่านอื่นๆ ยังได้สังเกตว่า ระบบประสาทของเรา ถูกปรับมาเพื่อให้สัมผัสกับความแตกต่าง ไม่ใช่กับสถานะคงที่ การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติวงการโดยมีโครงการใหม่เป็นหลักฐาน จึงสังเกตได้ง่ายกว่าผลสะสมของการพัฒนาที่ต่อเนื่องอย่างคงที่ ดังนั้น ไลนัสจึงได้รับความเคารพในฐานะบิดาแห่งลินุกซ์ แม้ว่าผลสุทธิของการพัฒนาจากผู้เข้าร่วมอื่นๆ เรือนพัน จะมีส่วนช่วยในความสำเร็จของ OS นี้เกินกว่าที่งานของคนคนหนึ่งจะทำได้ก็ตาม
[HD] คำว่า ``ทำลายตลาด'' (de-commoditize) นี้ อ้างไปถึง เอกสารวันฮัลโลวีน ซึ่งไมโครซอฟท์ได้ใช้คำว่า ``ทำลายตลาด'' อย่างตรงไปตรงมา ในการเรียกนโยบายระยะยาวที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในการผูกมัดลูกค้าไว้ โดยอาศัยการผูกขาดอย่างแกมโกง
[KN] ผู้ร่วมแสดงความเห็นท่านหนึ่งชี้ว่า คุณค่าที่อยู่รอบๆ บรรทัดฐานที่ว่า ``คุณจะไม่เป็นแฮ็กเกอร์จนกว่าแฮ็กเกอร์คนอื่นจะเรียกคุณว่าแฮ็กเกอร์'' นี้ คล้ายกันกับอุดมคติที่กล่าวอ้าง (ถ้าไม่ใช่บรรลุ) โดยสังคมอื่นที่เชื่อมั่นในความสำเร็จด้วยตนเอง ในกลุ่มผู้นำทางสังคมซึ่งร่ำรวยพอที่จะหนีพ้นเศรษฐกิจแบบขาดแคลนที่รายล้อม ตัวอย่างเช่น ในอุดมคติของยุโรปสมัยกลางเกี่ยวกับความเป็นอัศวินนั้น อัศวินผู้ใฝ่ฝันจะถูกคาดหวังให้ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ให้แสวงหาเกียรติศักดิ์ศรีแทนที่จะได้มาเฉยๆ ให้ยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่อ่อนแอและถูกกดขี่ และให้แสวงหาความท้าทายอย่างสม่ำเสมอ ที่จะทดสอบความเก่งกล้าของตนอย่างถึงที่สุด สิ่งที่ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นอัศวินจะได้รับเป็นการตอบแทน คือสามารถเรียกตัวเอง (และโดยผู้อื่น) ว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดผู้กล้า แต่ต้องหลังจากที่ความสามารถและคุณค่าของเขาได้รับการยอมรับและรับรองจากอัศวินคนอื่นแล้วเท่านั้น ในอุดมคติของอัศวินที่ได้รับการสรรเสริญจากเรื่องกษัตริย์อาเธอร์และ Chansons de Geste นั้น เราจะพบการคละเคล้าของอุดมการณ์ การท้าทายตัวเองอย่างต่อเนื่อง และการแสวงหาสถานภาพ คล้ายกับสิ่งที่อยู่ในตัวแฮ็กเกอร์ทั้งหลายในทุกวันนี้ จึงดูเป็นไปได้ ที่คุณค่าและบรรทัดฐานการปฏิบัติที่คล้ายกัน จะพัฒนาเกี่ยวเนื่องกับความสามารถที่ทั้งต้องการการอุทิศตนอย่างใหญ่หลวง และเกี่ยวข้องกับอำนาจบางอย่าง
[GNU] เว็บไซต์หลักของมูลนิธิซอฟต์แวร์เสรีได้เสนอ บทความหนึ่ง ซึ่งสรุปผลของการศึกษาเหล่านี้จำนวนมาก คำพูดทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทความนี้ ก็คัดลอกมาจากบทความดังกล่าว