ความหรรษาแห่งการแฮ็ก

อนึ่ง ในการวิเคราะห์ `เกมแห่งชื่อเสียง' (reputation game) นี้ ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะละเลยความพึงใจทางศิลปะของการออกแบบซอฟต์แวร์ที่สวยงามและสร้างให้มันใช้งานได้ แฮ็กเกอร์ทุกคนต่างได้ผ่านประสบการณ์ความพึงใจนี้ และเติบโตมากับมัน ใครที่ไม่เคยเห็นมันเป็นแรงจูงใจที่สลักสำคัญ ก็ไม่มีทางมาเป็นแฮ็กเกอร์แต่แรกแล้ว ไม่ต่างอะไรกับการที่คนที่ไม่ได้รักดนตรีไม่มีทางเป็นนักประพันธ์เพลง

ดังนั้น บางทีเราควรจะพิจารณาการอธิบายพฤติกรรมแฮ็กเกอร์ในแบบที่ใช้ความหรรษาล้วนๆ ของการเป็นช่างฝีมือเป็นแรงจูงใจหลักดูบ้าง การอธิบายด้วย `ความเป็นช่างฝีมือ' นี้ จะต้องอธิบายจารีตประเพณีแฮ็กเกอร์ว่าเป็นหนทางที่ทั้งให้โอกาสสูงสุดในการเป็นช่างฝีมือ และให้คุณภาพของผลลัพธ์สูงสุดด้วย คำอธิบายนี้จะขัดแย้ง หรือให้ผลลัพธ์ที่ต่างจากการอธิบายโดยใช้เกมแห่งชื่อเสียงหรือไม่?

ก็ไม่เชิง ในการตรวจสอบคำอธิบายโดยใช้ความเป็นช่างฝีมือ เราก็กลับมาที่ปัญหาเดิม ที่บังคับความเป็นแฮ็กเกอร์ให้ดำเนินในแบบวัฒนธรรมการให้อยู่เช่นเดิม คนคนหนึ่งจะทำงานให้มีคุณภาพสูงสุดได้อย่างไร ถ้าไม่มีมาตรวัดคุณภาพ? และถ้าระบบเศรษฐศาสตร์ไร้ซึ่งความขาดแคลนแล้ว จะมีมาตรวัดใดอีก นอกจากการประเมินผลของคนอื่น? ปรากฏว่า ท้ายที่สุดแล้ว วัฒนธรรมช่างฝีมือก็ต้องจัดโครงสร้างตัวเองโดยอาศัยเกมแห่งชื่อเสียงอยู่ดี และอันที่จริง เราสามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในวัฒนธรรมช่างฝีมือในอดีตทั้งหลาย ตั้งแต่สมาคมวิชาชีพในยุคกลางเป็นต้นมา

ในด้านหนึ่งที่สำคัญ คำอธิบายโดยใช้ความเป็นช่างฝีมือนั้น อ่อนกว่าแบบ `วัฒนธรรมการให้' อยู่ เพราะลำพังตัวมันเอง ก็ไม่ได้ช่วยอธิบายความขัดแย้งในตัวเองที่ตั้งต้นบทความนี้เลย

และท้ายที่สุด แรงจูงใจจากความเป็นช่างฝีมือเอง ก็อาจไม่ได้ห่างไกลในทางจิตวิทยาจากเกมแห่งชื่อเสียงอย่างที่เราคิด ลองนึกภาพโปรแกรมอันสวยงามของคุณถูกล็อกเก็บไว้ในลิ้นชัก และไม่เคยถูกใช้อีกเลย แล้วลองนึกภาพที่มันถูกใช้งานจริงด้วยความพอใจของผู้คน แบบไหนที่คุณพึงใจ?

แม้กระนั้น เราจะยังคงให้ความสนใจกับคำอธิบายที่ใช้ความช่างฝีมือต่อไป เพราะมันเข้ากับสามัญสำนึกของแฮ็กเกอร์หลายคน และยังอธิบายบางแง่มุมของพฤติกรรมของแต่ละบุคคลได้ดี [HT]

หลังจากที่ผู้เขียนได้เผยแพร่รุ่นแรกของบทความนี้บนอินเทอร์เน็ต มีผู้ขอสงวนนามท่านหนึ่งตอบกลับมา ให้ความเห็นว่า: ``คุณไม่อาจทำงานเพื่อให้ได้ชื่อเสียง แต่ชื่อเสียงจะเป็นสิ่งตอบแทน พร้อมกับสิ่งอื่นๆ ถ้าคุณทำงานดีจริง'' นับเป็นประเด็นละเอียดอ่อนและสำคัญ แรงจูงใจจากชื่อเสียงจะยังคงทำงานต่อไป ไม่ว่าช่างฝีมือจะรู้ตัวหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าแฮ็กเกอร์จะเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกมแห่งชื่อเสียงหรือไม่ แต่พฤติกรรมของเขาก็จะถูกเกมควบคุมอยู่ดี

ผู้แสดงความเห็นท่านอื่นๆ ได้เชื่อมโยงรางวัล คือความเคารพจากบุคคลอื่น และความหรรษาแห่งการแฮ็ก เข้ากับความต้องการเหนือระดับการเลี้ยงชีวิตรอด ตามทฤษฎี `ลำดับชั้นของคุณค่า' แห่งแรงจูงใจของมนุษย์อันมีชื่อเสียงของ อับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) [MH] ตามทัศนะนี้ ความหรรษาแห่งการแฮ็กได้สนองความต้องการตระหนักในศักยภาพตน (self-actualization) หรือความบรรลุขั้นสูง (transcendence) ซึ่งจะไม่มีทางแสดงออกอย่างมั่นคง จนกว่าความต้องการในระดับต่ำลงไป (รวมถึงความปลอดภัยทางกายภาพ และ `ความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม' (belongingness) หรือความเคารพจากคนรอบข้าง) จะได้รับการตอบสนองขั้นต่ำเป็นอย่างน้อย ดังนั้น เกมแห่งชื่อเสียงจึงอาจสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการให้บริบททางสังคมที่ทำให้ความหรรษาแห่งการแฮ็กสามารถ เปลี่ยน เป็นแรงกระตุ้นหลักของแต่ละบุคคล