ของขวัญนั้นดีแค่ไหน?

มีรูปแบบตายตัวที่วัฒนธรรมแฮ็กเกอร์จะให้คุณค่าแก่การร่วมสมทบงาน และให้ความเคารพกลับคืนแก่เจ้าของผลงาน กฎต่อไปนี้สังเกตได้ไม่ยากเลย:

1. ถ้ามันทำไม่ได้อย่างที่ชี้นำให้คาดหวัง ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ ไม่ว่ามันจะดูฉลาดหรือใหม่เอี่ยมขนาดไหนก็ตาม

โปรดสังเกตวลี `ชี้นำให้คาดหวัง' กฎนี้ไม่ใช่ว่าต้องการความสมบูรณ์แบบ ซอฟต์แวร์ทดสอบและทดลองนั้นมีบั๊กได้ แต่เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง ที่ต้องให้ผู้ใช้สามารถประเมินความเสี่ยงจากสถานะของโครงการ และการนำเสนอของนักพัฒนาได้

กฎนี้อยู่เบื้องหลังข้อเท็จจริงที่ว่า ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมักจะอยู่ในขั้นทดสอบเป็นเวลานาน และจะไม่ถึงรุ่น 1.0 เสียที จนกว่านักพัฒนาจะมั่นใจมากๆ ว่ามันจะไม่ทำให้ผู้คนตกใจร้องยี้ ในโลกซอร์สปิดนั้น รุ่น 1.0 หมายความว่า ``อย่าเพิ่งแตะต้อง ถ้าคุณยังไม่แน่ใจ'' แต่ในโลกโอเพนซอร์สนั้น มันมีความหมายคล้ายกับ ``นักพัฒนาเต็มใจที่จะเดิมพันมันด้วยชื่อเสียงของพวกเขาเอง'' มากกว่า

2. งานที่ขยายขอบเขตของ noosphere ถือว่าดีกว่างานที่ซ้ำกับงานในขอบเขตเดิมที่ทำได้ดีอยู่แล้ว

พูดง่ายๆ ก็คือ: งานใหม่ย่อมดีกว่างานที่ซ้ำกับหน้าที่ของซอฟต์แวร์เดิมที่มีอยู่ แต่ความเป็นจริงอาจไม่ง่ายอย่างนั้น การซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของซอฟต์แวร์ ปิด เดิมที่มีอยู่ ก็ถือว่ามีความใหม่เทียบเท่ากับงานที่คิดขึ้นใหม่จริงๆ ได้ ถ้างานนั้นเป็นการแกะโปรโตคอลหรือฟอร์แมตปิด และทำให้ใช้งานได้เป็นครั้งแรก

ด้วยเหตุนี้ โครงการหนึ่งที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดในโลกโอเพนซอร์สก็คือ แซมบา (Samba) ซึ่งช่วยให้เครื่องยูนิกซ์สามารถเป็นเครื่องลูกข่ายหรือสถานีบริการสำหรับโปรโตคอล SMB ซึ่งเป็นโปรโตคอลปิดสำหรับใช้ไฟล์ร่วมกันของไมโครซอฟท์ได้ งานในโครงการนี้ มีความสร้างสรรค์น้อยมาก ส่วนมากเป็นเรื่องของการทำวิศวกรรมย้อนรอยให้ถูกต้อง แม้กระนั้น สมาชิกกลุ่มแซมบาก็ได้รับการยอมรับให้เป็นวีรบุรุษ เพราะเป็นการสลายพลังหนึ่งของไมโครซอฟท์ที่จะกักขังกลุ่มผู้ใช้ทั้งหมด และปิดล้อมภาคที่ใหญ่มากๆ ภาคหนึ่งของ noosphere

3. งานที่สามารถเข้าไปอยู่ในดิสทริบิวชันหลักได้ ย่อมดีกว่างานที่ไม่ได้เข้า งานที่รวมอยู่ในดิสทริบิวชันหลักทุกเจ้า ถือว่าได้รับเกียรติยศสูงสุด

ดิสทริบิวชันหลักไม่ได้หมายถึงแค่ดิสทริบิวชันลินุกซ์ใหญ่ๆ อย่าง Red Hat, Debian, Caldera และ SuSE เท่านั้น แต่รวมไปถึงการรวบรวมอื่นที่เป็นที่เข้าใจกันว่ามีชื่อเสียงที่ต้องรักษา ซึ่งหมายความถึงการรับรองคุณภาพในตัวเอง อย่างเช่น ดิสทริบิวชันต่างๆ ของ BSD หรือแหล่งรวบรวมซอฟต์แวร์ของมูลนิธิซอฟต์แวร์เสรี

4. การใช้งานจริง คือวิธียกย่องที่จริงใจที่สุด และผู้พิชิตย่อมดีกว่างานที่ทำคล้ายกัน

การเชื่อมั่นในวิจารณญาณของผู้อื่น คือพื้นฐานของกระบวนการตรวจสอบโดยหมู่ชน ความเชื่อมั่นดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะไม่มีใครมีเวลาตรวจสอบทางเลือกทุกทาง ดังนั้น งานที่มีผู้ใช้จำนวนมากจึงถือว่าดีกว่างานที่มีผู้ใช้ไม่กี่คน

การทำงานที่ดีเสียจนไม่มีใครสนใจใช้ตัวเลือกอื่นอีกต่อไป จึงถือเป็นการได้รับเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ความเคารพอันสูงสุดจากหมู่ชนที่จะพึงมีได้ จึงมาจากการได้ทำงานที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง เป็นงานใหม่เอี่ยมที่พิชิตใจผู้ใช้ และถูกรวมอยู่ในดิสทริบิวชันหลักทุกเจ้า ผู้ใดก็ตามที่สามารถทำเรื่องแบบนี้ได้มากกว่าหนึ่งครั้ง จะถูกขนานนามแบบทีเล่นทีจริงว่า `กึ่งเทพเจ้า'

5. การอุทิศตนอย่างต่อเนี่องกับงานที่หนักและน่าเบื่อ (เช่น การดีบั๊ก หรือการเขียนเอกสาร) ถือว่าน่ายกย่องกว่าการเด็ดชิมเฉพาะงานแฮ็กที่สนุกและง่ายดาย

บรรทัดฐานนี้ คือวิธีที่ชุมชนให้รางวัลแก่งานที่จำเป็นที่แฮ็กเกอร์มักไม่อยากเข้าใกล้ แต่บางทีก็ขัดแย้งกับเรื่องต่อไปนี้พอสมควร:

6. การขยายความสามารถที่เด่นๆ ถือว่าดีกว่าการแก้ไขและดีบั๊กในระดับล่าง

การทำงานของข้อนี้ดูจะเป็นในลักษณะที่ว่า ในเฉพาะเบื้องหน้านั้น การเพิ่มความสามารถมีแนวโน้มจะได้รางวัลมากกว่าการแก้บั๊ก นอกเสียจากบั๊กนั้นจะเลวร้ายหรือลึกลับมากๆ จนทำให้แค่การซ่อมแซมก็ถือเป็นการแสดงความเชี่ยวชาญและเชาวน์ปัญญาที่ไม่ธรรมดา แต่เมื่อพฤติกรรมทั้งสองผ่านไปตามกาลเวลา บุคคลที่มีประวัติยาวนานในการทุ่มเทและซ่อมแซมแม้บั๊กธรรมดา ก็สามารถจะแซงหน้าคนที่ใช้แรงพอๆ กัน ในการเพิ่มความสามารถง่ายๆ ได้

ผู้แสดงความเห็นท่านหนึ่งชี้ว่า กฎเหล่านี้มีผลต่อกันอย่างน่าสนใจ และไม่จำเป็นต้องให้รางวัลต่ออรรถประโยชน์สูงสุดเสมอไป ลองถามแฮ็กเกอร์สักคนดูสิ ว่าเขามีแนวโน้มจะเป็นที่รู้จักจากเครื่องมือใหม่ล่าสุดที่ทำเอง หรือจากการเพิ่มขยายงานของคนอื่นมากกว่ากัน ไม่ต้องสงสัยว่าคำคอบคือ ``เครื่องมือใหม่'' แน่ๆ แต่ลองถามว่าระหว่าง (ก) เครื่องมือใหม่เอี่ยมที่ถูก OS เรียกใช้แค่วันละสองสามครั้งอย่างเงียบๆ แต่กลายเป็นผู้พิชิตอย่างรวดเร็ว กับ (ข) ส่วนขยายหลายๆ ชิ้นต่อเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นนวัตกรรมหรือเป็นผู้พิชิตแต่อย่างใด แต่มีผู้ใช้จำนวนมากเรียกใช้ทุกวัน มองเห็นทุกวัน อย่างไหนจะดังกว่า

แล้วคุณก็น่าจะได้เห็นความลังเลนิดหน่อย ก่อนที่แฮ็กเกอร์คนนั้นจะมาลงเอยที่ (ก) ทางเลือกเหล่านี้ดูจะซ้อนกันมาอย่างเท่าเทียม

ผู้แสดงความเห็นท่านนี้แสดงเจตนาที่จะถามคำถามนี้กับตัวผู้เขียนเอง ด้วยการเสริมว่า ``กรณี (ก) คือ fetchmail ส่วนกรณี (ข) คือส่วนขยาย Emacs ทั้งหลายของคุณเอง อย่างเช่น vc.el และ gud.el'' และเขาก็พูดถูกจริงๆ ผู้เขียนมักจะถูกติดป้ายว่าเป็น ``คนเขียน fetchmail'' มากกว่า ``คนเขียนโหมด Emacs กองพะเนิน'' แม้ว่าอย่างหลังน่าจะถูกเรียกใช้มากกว่า

สิ่งที่อาจสรุปได้ตรงนี้ก็แค่ง่ายๆ ว่างานที่มี `เอกลักษณ์ยี่ห้อ' ใหม่ จะเป็นที่สังเกตมากกว่างานที่ถูกรวมเข้าไปใน `ยี่ห้อ' ที่มีอยู่แล้ว การอธิบายกฎเหล่านี้อย่างละเอียด พร้อมทั้งสิ่งบ่งชี้เกี่ยวกับระบบการให้คะแนนของวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ จะเป็นหัวข้อที่ดีที่จะวินิจฉัยกันต่อไป