ทรัพย์สินใน Noosphere กับพฤติกรรมการประกาศถิ่น

เพื่อที่จะทำความเข้าใจในเหตุและผลของจารีตประเพณีทรัพย์สินของล็อค เราลองมามองจากอีกมุมหนึ่งซึ่งช่วยทำความเข้าใจได้ คือจากพฤติกรรมสัตว์ โดยมุ่งเฉพาะพฤติกรรมเรื่องการประกาศถิ่น

ทรัพย์สินก็คือการสร้างนามธรรมของการประกาศถิ่นของสัตว์ ซึ่งพัฒนาขึ้นในฐานะของเครื่องมือลดความรุนแรงภายในเผ่าพันธุ์ การทำเครื่องหมายเขตแดน และเคารพเขตแดนของตัวอื่น ช่วยให้หมาป่าลดโอกาสที่จะต้องต่อสู้กัน อันอาจทำให้แต่ละตัวต้องอ่อนล้าหรือตายลง และทำให้การสืบพันธุ์ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยลักษณะคล้ายกัน หน้าที่ของทรัพย์สินในสังคมมนุษย์ก็คือ ป้องกันข้อขัดแย้งระหว่างมนุษย์ ด้วยการขีดเส้นแบ่งแยกพฤติกรรมสันติกับก้าวร้าวออกจากกันอย่างชัดเจน

อาจฟังดูหรูในบางวงการที่จะบรรยายทรัพย์สินมนุษย์ว่าเป็นข้อตกลงทางสังคมแบบอำเภอใจ แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิดอย่างจัง ใครก็ตามที่เคยมีสุนัขที่เห่าคนแปลกหน้าที่เข้าใกล้ทรัพย์สินของเจ้าของ จะรู้สึกได้ถึงความต่อเนื่องที่สำคัญ ระหว่างการประกาศถิ่นของสัตว์กับทรัพย์สินของมนุษย์ ญาติหมาป่าที่มาอยู่บ้านของเรารู้โดยสัญชาตญาณ ว่าทรัพย์สินไม่ได้เป็นเพียงข้อตกลงทางสังคมหรือว่าเกมใดๆ แต่เป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งยวดที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง (ความรู้นี้ทำให้สุนัขเหล่านี้ฉลาดกว่านักทฤษฎีการเมืองที่เป็นมนุษย์หลายคนนัก)

การอ้างความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (ซึ่งเหมือนกับการทำเครื่องหมายเขตแดน) เป็นการกระทำที่มีผลตามคำพูด คือเป็นวิธีประกาศเขตแดนที่จะปกป้อง การสนับสนุนการอ้างโดยชุมชน ก็เป็นวิธีลดแรงต้านให้น้อยที่สุด และเพิ่มพฤติกรรมการร่วมมือให้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นจริงแม้ในกรณีที่ ``การอ้างความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน'' เป็นนามธรรมกว่ารั้วหรือการเห่าของสุนัข หรือแม้ในกรณีที่เป็นแค่ถ้อยแถลงประกาศชื่อของผู้ดูแลโครงการในไฟล์ README ทั้งหมดยังคงเป็นนามธรรมของการประกาศเขตแดน และ (เหมือนกับทรัพย์สินรูปแบบอื่น) อยู่บนพื้นฐานของสัญชาตญาณการประกาศถิ่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยยุติข้อขัดแย้ง

การวิเคราะห์พฤติกรรมประกาศถิ่นนี้ แรกๆ อาจจะดูเป็นนามธรรม และยากจะเกี่ยวโยงกับพฤติกรรมจริงของแฮ็กเกอร์ แต่มันก็ให้ผลลัพธ์ที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือการอธิบายความเป็นที่นิยมของเว็บไซต์ต่างๆ และโดยเฉพาะการที่โครงการโอเพนซอร์สที่มีเว็บไซต์ดูเป็น `ของจริง' และมีหลักฐานกว่าโครงการที่ไม่มี

เมื่อพิจารณาอย่างเป็นกลาง เรื่องนี้ดูจะอธิบายยาก เพราะเมื่อเทียบกับความพยายามที่ใช้ในการตั้งและดูแลแม้โครงการเล็กๆ แล้ว การดูแลเว็บนั้นง่ายกว่ามาก จึงยากที่จะถือว่าเว็บเป็นหลักฐานของความพยายามที่หนักหรือไม่ธรรมดา

หรือแม้แต่ลักษณะหน้าที่ของเว็บเอง ก็ไม่ใช่คำอธิบายที่เพียงพอ การสื่อสารต่างๆ ของหน้าเว็บก็สามารถให้บริการผ่านการทำงานร่วมกันของ FTP, เมลลิงลิสต์ และกลุ่มข่าว Usenet ได้เหมือนกัน ซึ่งในความเป็นจริง ออกจะดูผิดปกติด้วยซ้ำสำหรับการติดต่อสื่อสารประจำวันของโครงการ ที่จะทำผ่านเว็บแทนเมลลิงลิสต์หรือกลุ่มข่าว เช่นนั้นแล้ว ทำไมล่ะ จึงยังมีความนิยมให้เว็บไซต์แทนที่อยู่ของโครงการ?

อุปมาอุปมัยที่แฝงอยู่ในคำว่า `โฮมเพจ' (home page) นั่นเอง ที่บอกใบ้ถึงคำตอบ ในขณะที่การก่อตั้งโครงการโอเพนซอร์สเป็นการอ้างเขตแดนใน noosphere (โดยได้รับการยอมรับตามจารีตประเพณี) แต่ก็ไม่ใช่เขตแดนชนิดที่เด่นชัดในระดับจิตวิทยา เพราะในที่สุด ซอฟต์แวร์ก็ไม่มีที่อยู่โดยธรรมชาติของมันเอง และสามารถทำซ้ำได้ทันทีที่ต้องการ เรื่องนี้เราอาจเข้าใจได้ด้วยสามัญสำนึกในรูปของ `เขตแดน' และ `ทรัพย์สิน' แต่ก็ต้องออกแรงกันสักหน่อย

โฮมเพจของโครงการทำให้การปักหลักแบบนามธรรมในโลกของโปรแกรมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ด้วยการประกาศตัวเองว่าเป็นเขต `บ้าน' (home) ในโลกของเวิร์ลด์ไวด์เว็บที่มีการจัดที่อยู่เป็นหลักแหล่งกว่า การลงจาก noosphere มาสู่ `ไซเบอร์สเปซ' ยังไม่ได้นำเราไปถึงโลกแห่งความเป็นจริงที่มีรั้วและสุนัขเห่าทั้งหมดก็จริง แต่ก็ได้ยึดการกล่าวอ้างทรัพย์สินแบบนามธรรมเข้ากับสามัญสำนึกเกี่ยวกับเขตแดนของเราไว้แน่นหนากว่า และนี่จึงเป็นเหตุผลที่โครงการที่มีเว็บดูเป็น `ของจริง' กว่า

ประเด็นนี้ได้รับการเสริมแรงอีกมาก ด้วยไฮเพอร์ลิงก์และการมีเครื่องมือค้นหาที่ดี โครงการที่มีหน้าเว็บสามารถเป็นที่สังเกตของคนที่กำลังสำรวจเพื่อนบ้านใน nooshpere ได้มากกว่า เพราะหน้าอื่นก็เชื่อมโยงมา และการค้นหาก็จะพบ หน้าเว็บจึงเป็นการโฆษณาที่ดีกว่า เป็นการกระทำที่มีผลตามคำพูดที่ได้ผลกว่า และเป็นการกล่าวอ้างเขตแดนที่หนักแน่นกว่า

การวิเคราะห์พฤติกรรมการประกาศถิ่นนี้ ยังได้ชวนให้พิจารณากลไกการจัดการข้อขัดแย้งในวัฒนธรรมโอเพนซอร์สให้ละเอียดขึ้นอีก โดยได้ชี้นำให้คาดหวังว่า นอกจากการเพิ่มแรงกระตุ้นจากชื่อเสียงให้สูงสุดแล้ว จารีตประเพณีการถือครองก็ควรมีบทบาทในการป้องกันและยุติข้อขัดแย้งด้วยเช่นกัน