โครงสร้างของโครงการและการถือครอง

กรณีที่เล็กน้อยก็คือกรณีที่โครงการมีเจ้าของเพียงคนเดียว ในกรณีดังกล่าว ย่อมไม่มีข้อขัดแย้ง เจ้าของโครงการเป็นผู้ตัดสินใจและรับทั้งผิดและชอบทุกอย่าง ข้อขัดแย้งที่เป็นไปได้เพียงอย่างเดียวคือเรื่องการสืบทอดโครงการ คือคำถามว่าใครจะเป็นเจ้าของคนใหม่ ถ้าเจ้าของคนเดิมหายตัวไป หรือเลิกสนใจทำ นอกจากนี้ ชุมชนยังมีความสนใจตามข้อ (ค) เรื่องการป้องกันการฟอร์ก ความสนใจเหล่านี้ แสดงออกมาในรูปบรรทัดฐานของวัฒนธรรมที่ว่า เจ้าของหรือผู้ดูแลโครงการควรส่งทอดกรรมสิทธิ์ให้กับผู้อื่นอย่างเปิดเผย เมื่อไม่สามารถดูแลโครงการต่ออีกแล้ว

กรณีสำคัญที่ง่ายที่สุดคือ เมื่อโครงการมีผู้ร่วมดูแลหลายคนทำงานภายใต้ `เผด็จการใจดี' คนเดียว ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จารีตประเพณีนิยมใช้รูปแบบนี้กับโครงการกลุ่ม และก็ปรากฏว่าสามารถทำงานได้ดีกับโครงการใหญ่ๆ ขนาดเคอร์เนลลินุกซ์ หรือ Emacs และสามารถแก้ปัญหา ``ใครเป็นผู้ตัดสิน'' ได้ด้วยหนทางที่ไม่ได้ด้อยกว่าวิธีอื่นเลย

โดยปกติแล้ว โครงสร้างแบบเผด็จการใจดีนี้ จะพัฒนามาจากแบบเจ้าของเป็นผู้ดูแล หลังจากที่ผู้ก่อตั้งได้ผู้ร่วมสมทบมากขึ้น แม้เจ้าของโครงการจะยังคงเป็นเผด็จการอยู่ แต่โครงสร้างแบบนี้ก็ได้เพิ่มระดับใหม่ของกรณีพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้ ว่าใครจะได้เครดิตสำหรับส่วนไหนของโครงการ

ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ จารีตประเพณีได้มอบหน้าที่แก่เจ้าของ/เผด็จการ ที่จะให้เครดิตต่อผู้ร่วมสมทบอย่างยุติธรรม (เช่น ด้วยการอ้างถึงในไฟล์ README หรือไฟล์ประวัติโครงการอย่างเหมาะสม) ตามแบบจำลองทรัพย์สินของล็อคแล้ว การให้เครดิตดังกล่าวก็หมายความว่า การร่วมสมทบในโครงการจะทำให้คุณได้ส่วนแบ่งของชื่อเสียงที่มีต่อโครงการด้วย (ไม่ว่าแง่บวกหรือแง่ลบ)

ตามตรรกะนี้ เราจะเห็นว่า `เผด็จการใจดี' แท้ที่จริงแล้ว ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงการทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จ แม้เขาจะมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับพันธกรณี แต่ผลก็คือ เขาก็ให้ส่วนแบ่งในชื่อเสียงออกไปเพื่อแลกกับงานของผู้อื่นเหมือนกัน จึงทำให้อดนึกถึงการเปรียบเทียบกับการลงแขกเกี่ยวข้าวไม่ได้ เว้นก็แต่ว่า ชื่อของผู้ร่วมสมทบจะคงอยู่ในเครดิต และยังคงได้รับอยู่ในระดับหนึ่ง แม้หลังจากที่ผู้ร่วมสมทบคนนั้นไม่ได้ร่วมทำงานอีกต่อไปแล้ว

เมื่อโครงการที่นำโดยเผด็จการใจดีมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ก็มีแนวโน้มจะสร้างชั้นของผู้สมทบขึ้นสองชั้น คือผู้ร่วมสมทบปกติ กับนักพัฒนาร่วม หนทางปกติที่จะนำไปสู่การเป็นนักพัฒนาร่วม ก็คือการรับผิดชอบในองค์ประกอบใหญ่ๆ ของโครงการ และอีกทางหนึ่งคือ การรับบท `เซียนนักซ่อม' คือเป็นผู้ชี้สาเหตุและแก้บั๊กจำนวนมาก ด้วยวิธีนี้หรือวิธีใดก็ตาม นักพัฒนาร่วมก็คือ ผู้ร่วมสมทบที่ได้อุทิศเวลาจำนวนมากอย่างต่อเนื่องให้กับโครงการนั่นเอง

บทบาทของการเป็นเจ้าขององค์ประกอบย่อย มีความสำคัญโดยเฉพาะต่อการวิเคราะห์ของเรา และสมควรจะพิจารณาต่อ แฮ็กเกอร์มักจะชอบพูดว่า `อำนาจมาตามความรับผิดชอบ' โดยทั่วไปแล้ว นักพัฒนาร่วมที่รับผิดชอบดูแลองค์ประกอบที่ได้รับมอบหมาย ก็จะต้องควบคุมทั้งการทำงานภายในองค์ประกอบนั้น และการเชื่อมต่อกับส่วนที่เหลือของโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีเพียงหัวหน้าโครงการเท่านั้นที่จะวิจารณ์แก้ไขได้ (ในฐานะสถาปนิก) เรายังสังเกตอีกว่า กฎนี้มีผลในการสร้างทรัพย์สินตามแบบจำลองของล็อคซ้อนภายในโครงการ และมีบทบาทในการป้องกันข้อขัดแย้งเหมือนกับขอบเขตของทรัพย์สินอื่นทุกประการ

โดยจารีตประเพณีแล้ว `เผด็จการ' หรือหัวหน้าโครงการในโครงการที่มีนักพัฒนาร่วม จะถูกคาดหวังให้ปรึกษานักพัฒนาร่วมก่อนตัดสินใจครั้งสำคัญๆ เสมอ โดยเฉพาะถ้าการตัดสินใจนั้นเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบที่นักพัฒนาร่วม `เป็นเจ้าของ' (คือใช้เวลาและรับผิดชอบดูแล) อยู่ หัวหน้าที่ฉลาดและเข้าใจหน้าที่ของเขตแดนทรัพย์สินภายในของโครงการ จะไม่ก้าวก่ายหรือล้มเลิกการตัดสินใจที่กระทำโดยเจ้าขององค์ประกอบแม้แต่น้อย

โครงการที่ใหญ่มากบางโครงการไม่สนใจรูปแบบ `เผด็จการใจดี' โดยสิ้นเชิง วิธีหนึ่งก็คือ เปลี่ยนนักพัฒนาร่วมทั้งหลายให้เป็นคณะกรรมการลงคะแนนเสียง (เช่นใน Apache) อีกวิธีหนึ่งคือหมุนเวียนกันเป็นเผด็จการ ซึ่งอำนาจควบคุมจะถูกส่งต่อจากสมาชิกคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งภายในวงนักพัฒนาร่วมอาวุโส นักพัฒนา Perl จัดโครงสร้างด้วยวิธีนี้

การจัดการที่ซับซ้อนเช่นนี้ ถือกันทั่วไปว่าไม่มีเสถียรภาพ และจัดการยาก ความยุ่งยากที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เรื่องของความวุ่นวายที่รู้จักกันในนามของ `การออกแบบโดยคณะกรรมการ' และความวุ่นวายของคณะกรรมการเอง ปัญหาเหล่านี้เป็นที่เข้าใจกันดีในวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่า ความไม่สบายใจที่แฮ็กเกอร์รู้สึกต่อการใช้คณะกรรมการหรือการหมุนเวียนเก้าอี้ก็คือ มันเข้ากันได้ยากกับรูปแบบของล็อคในจิตใต้สำนึกที่แฮ็กเกอร์ใช้ในการให้เหตุผลต่อกรณีที่ง่ายกว่า จึงเป็นปัญหาในองค์กรที่ซับซ้อนเหล่านี้ที่จะรับรองการถือครอง ไม่ว่าในแง่ของการมีอำนาจควบคุมหรือการได้รับชื่อเสียง เป็นการยากที่จะเห็นการแบ่งเขตภายใน ซึ่งทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้ง นอกเสียจากว่า กลุ่มจะอยู่ในสภาพที่กลมเกลียวกันและเชื่อใจกันในระดับสูงเป็นพิเศษ