ข้อขัดแย้งและวิธียุติข้อขัดแย้ง

เราได้เห็นแล้วว่าในโครงการต่างๆ นั้น ความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของบทบาทต่างๆ ถูกแสดงออกมาด้วยการกระจายอำนาจการออกแบบและสิทธิในทรัพย์สินบางส่วน ในขณะที่การกระจายนี้ถือเป็นการกระจายแรงจูงใจที่ได้ผล แต่ก็เป็นการลดทอนอำนาจของหัวหน้าโครงการไปด้วย และที่สำคัญที่สุด คือลดทอนอำนาจของหัวหน้าที่จะขจัดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

ในขณะที่การถกเถียงในทางเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบอาจดูเป็นความเสี่ยงที่ชัดเจนต่อความขัดแย้งภายใน แต่ก็มีน้อยมากที่จะกลายเป็นสาเหตุที่ร้ายแรงของความไม่ลงรอยกัน เรื่องนี้มักจะยุติโดยง่ายด้วยกฎของเขตแดนที่ว่าอำนาจมาตามความรับผิดชอบ

อีกทางหนึ่งของการยุติข้อขัดแย้งคืออาศัยความมีอาวุโส ถ้าผู้ร่วมสมทบสองคนหรือสองกลุ่มทะเลาะกัน และการทะเลาะนั้นไม่อาจยุติอย่างเป็นกลางได้ และไม่มีฝ่ายใดเป็นเจ้าของเขตแดนที่กำลังทะเลาะกันเลย ฝ่ายที่ได้ช่วยงานในโครงการโดยรวมมามากที่สุด (กล่าวคือ ฝ่ายที่มีสิทธิในทรัพย์สินในโครงการโดยรวมมากที่สุด) ควรเป็นฝ่ายชนะ

(พูดอีกอย่างก็คือ ฝ่ายที่ได้ลงแรงมาน้อยที่สุดจะพ่ายแพ้ ซึ่งน่าสนใจที่กฎนี้บังเอิญเป็นเคล็ดเดียวกับที่ระบบฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์หลายระบบใช้ในการแก้ไขการติดตาย เมื่อสายงานสองสายติดตายกันในการใช้ทรัพยากร ฝ่ายที่มีการลงทุนในรายการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันน้อยที่สุดจะถูกเลือกเป็นผู้ต้องหาที่ทำให้เกิดการติดตาย และจะถูกจบ วิธีนี้จึงเลือกรายการเปลี่ยนแปลงที่ทำงานมานานที่สุด หรือมีอาวุโสที่สุด ให้เป็นผู้ชนะเสมอ)

กฎเหล่านี้โดยทั่วไปก็เพียงพอต่อการยุติกรณีพิพาทเกือบทั้งหมดในโครงการ เมื่อไรที่มันยุติไม่ได้ ประกาศิตของหัวหน้าโครงการก็มักจะเพียงพอ หาได้ยากที่จะมีกรณีพิพาทที่สามารถผ่านด่านเหล่านี้มาได้

ตามหลักแล้ว ข้อขัดแย้งจะไม่ร้ายแรงขึ้นมานอกเสียจากเกณฑ์ทั้งสอง ("อำนาจมาตามความรับผิดชอบ" และ "ผู้มีอาวุโสชนะ") จะชี้ไปคนละทาง และ อำนาจของหัวหน้าโครงการมีน้อยหรือไม่มี กรณีที่ชัดเจนที่สุดที่เงื่อนไขนี้อาจเกิดได้ ก็คือการทะเลาะเรื่องการสืบทอด หลังจากที่หัวหน้าโครงการหายตัวไป ผู้เขียนเคยอยู่ในเหตุการณ์แบบนี้ครั้งหนึ่ง เป็นเหตุการณ์ที่น่าเกลียด เจ็บปวด ยืดเยื้อ และยุติได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเหนื่อยหน่ายจนต้องส่งการควบคุมไปให้กับคนนอก และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตัวเองจะไม่กรายใกล้กับเรื่องแบบนี้อีกเลย

ที่สุดแล้ว กลไกการยุติข้อขัดแย้งเหล่านี้ ก็อาศัยความพยายามของชุมชนแฮ็กเกอร์ทั้งหมดที่จะบังคับใช้ กลไกบังคับที่มีอยู่มีเพียงการด่าและหมางเมิน ซึ่งเป็นการประนามของสาธารณชนต่อผู้ที่ฝ่าฝืนจารีตประเพณี และการปฏิเสธที่จะร่วมสังฆกรรมหลังการฝ่าฝืนเท่านั้น