กลไกการถ่ายทอดวัฒนธรรมและความเชื่อมโยงกับวงการการศึกษา

รุ่นแรกๆ ของบทความนี้ได้ตั้งคำถามสำหรับค้นคว้าเพิ่มเติมว่า ชุมชนได้บอกกล่าวและชี้แนะสมาชิกเกี่ยวกับจารีตประเพณีอย่างไร? จารีตประเพณีปรากฏชัดเจนในตัวหรือว่าก่อรูปเองในระดับที่ไม่ได้เจตนาเต็มที่? หรือว่าใช้การสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง? หรือว่าใช้คำชี้แนะอย่างโจ่งแจ้ง?

แน่นอนว่าการชี้แนะอย่างโจ่งแจ้งนั้นไม่ค่อยมีให้เห็น เพราะมีคำบรรยายอย่างชัดเจนของบรรทัดฐานของวัฒนธรรมไว้ใช้ชี้แนะน้อยเกินไปนั่นเอง

บรรทัดฐานหลายอย่างจะถูกสอนด้วยตัวอย่าง ยกตัวอย่างกรณีที่ง่ายมากกรณีหนึ่งคือ เป็นธรรมเนียมที่ชุดแจกจ่ายซอฟต์แวร์ทุกชุดจะต้องมีไฟล์ชื่อ README หรือ READ.ME ที่ให้คำชี้แนะเบื้องต้นสำหรับการสำรวจส่วนต่างๆ ของชุดซอฟต์แวร์ ธรรมเนียมนี้ฝังรากเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 เป็นอย่างน้อย และมีการเขียนบัญญัติไว้เป็นบางโอกาสด้วย แต่นักพัฒนาโดยทั่วไปจะทำตามแบบอย่างที่เห็นในชุดซอฟต์แวร์ทั้งหลายมากกว่า

ในทางตรงกันข้าม จารีตประเพณีบางอย่างของแฮ็กเกอร์ ก็ก่อร่างขึ้นเองเมื่อแต่ละคนได้เกิดความเข้าใจพื้นฐาน (และอาจจะโดยไม่รู้ตัว) เกี่ยวกับเกมแห่งชื่อเสียง แฮ็กเกอร์ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีใครสอนเลย ถึงเรื่องข้อห้ามสามข้อที่ผู้เขียนได้แสดงมาก่อนแล้วในบทความนี้ หรืออย่างน้อย ถ้าถูกถามก็จะตอบว่ามันชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว มากกว่าจะได้รับการถ่ายทอดจากคนอื่น ปรากฏการณ์นี้ชวนให้วิเคราะห์เจาะลึกลงไปอีก และบางทีเราอาจพบคำอธิบายจากกระบวนการที่แฮ็กเกอร์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับจารีตประเพณีก็เป็นได้

หลายวัฒนธรรมใช้เคล็ดลับที่ปกปิด (หรือที่ถูกต้องกว่า คือ `ความลึกลับ' ในแง่ความเชื่อและศาสนา) เป็นกลไกถ่ายทอดวัฒนธรรม เคล็ดลับเหล่านี้เป็นความลับที่ไม่เปิดเผยต่อคนนอก แต่คาดหวังให้ผู้เริ่มต้นที่ศรัทธาได้ค้นพบหรืออนุมานเอาเอง และเพื่อที่จะได้รับการยอมรับเข้าในกลุ่ม บุคคลจะต้องแสดงให้เห็น ว่าตนนั้นทั้งเข้าใจความลึกลับนั้น และได้เรียนรู้มันด้วยวิธีที่ถูกต้องตามครรลองของวัฒนธรรม

วัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ใช้เคล็ดลับหรือการทดสอบประเภทนี้อย่างหนักและจงใจอย่างไม่ธรรมดา เราสามารถเห็นกระบวนการนี้ทำงานในสามระดับเป็นอย่างน้อย:

ในกระบวนการเรียนรู้ความลึกลับเหล่านี้ ผู้ที่จะเป็นแฮ็กเกอร์จะเก็บเกี่ยวความรู้ที่ (หลังจากเรียนรู้มาระยะหนึ่ง) ทำให้ข้อห้ามสามข้อและจารีตประเพณีอื่นๆ ดู `ชัดเจนในตัวเอง'

อย่างไรก็ดี บางคนอาจแย้งว่า ตัวโครงสร้างของวัฒนธรรมการให้ของแฮ็กเกอร์เองนั่นแหละ ที่เป็นความลึกลับที่สำคัญที่สุด คุณจะไม่ถูกนับว่าได้เข้าร่วมวัฒนธรรม (พูดให้เป็นรูปธรรมก็คือ จะไม่มีใครเรียกคุณว่าแฮ็กเกอร์) จนกว่าคุณจะแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างถึงกึ๋น เกี่ยวกับเกมแห่งชื่อเสียง พร้อมทั้งนัยเกี่ยวกับจารีตประเพณี ข้อห้าม และการปฏิบัติ แต่ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร ทุกวัฒนธรรมต่างก็ต้องการความเข้าใจเช่นว่าจากผู้ที่จะเข้าร่วมอยู่แล้ว นอกจากนี้ วัฒนธรรมแฮ็กเกอร์ก็ยังไม่แสดงความปรารถนาที่จะเก็บความคิดและครรลองของมันไว้เป็นความลับแต่อย่างใด หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ยังไม่มีใครด่าผู้เขียนที่ได้เปิดเผยเรื่องเหล่านี้เลย!

ผู้แสดงความเห็นต่อบทความนี้จำนวนมากจนสาธยายไม่หมด ได้ชี้ว่า จารีตประเพณีเรื่องการถือครองของแฮ็กเกอร์ดูจะเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับ (และอาจได้โดยตรงมาจาก) ธรรมเนียมปฏิบัติของวงการการศึกษา โดยเฉพาะแวดวงวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แวดวงวิจัยนี้มีปัญหาที่คล้ายกันในการวินิจฉัยความคิดต่างๆ ที่อาจให้ผลิตผลสูง และได้แสดงคำตอบแบบยืดหยุ่นที่คล้ายกันต่อปัญหาที่ว่า ด้วยวิธีที่ใช้การประเมินผลโดยหมู่ชนและชื่อเสียง

เนื่องจากแฮ็กเกอร์หลายคนผ่านการบ่มเพาะมาจากโลกการศึกษา (เป็นเรื่องปกติที่จะฝึกแฮ็กตั้งแต่ขณะเรียนในโรงเรียน) ระดับที่การศึกษามีรูปแบบร่วมกันกับวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์จึงน่าสนใจไม่น้อย ในการทำความเข้าใจการประยุกต์จารีตประเพณีเหล่านี้

ความคล้ายคลึงกันที่ชัดเจนกับ `วัฒนธรรมการให้' ของแฮ็กเกอร์เท่าที่ผู้เขียนสังเกตได้ มีอยู่มากมายในวงการการศึกษา เมื่อนักวิจัยได้ตำแหน่งงานแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องความอยู่รอดอีก (อันที่จริงแล้ว แนวคิดเรื่องตำแหน่งงานนี้ อาจสืบย้อนกลับไปในวัฒนธรรมการให้ระยะแรกๆ ที่ ``นักปรัชญาธรรมชาติ'' ทั้งหลาย โดยมากก็เป็นพวกผู้ดีมีฐานะที่มีเวลาพอที่จะอุทิศให้กับงานวิจัยได้) เมื่อไม่มีห่วงเรื่องความอยู่รอด การสร้างชื่อเสียงจึงกลายเป็นเป้าหมายขับดัน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันความคิดใหม่ๆ และงานวิจัย ผ่านวารสารวิชาการและสื่ออื่นๆ เรื่องนี้น่าเชื่อถืออย่างเป็นกลางได้ เพราะงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเหมือนกับวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์นั้น อาศัยแนวคิด `ยืนบนไหล่ยักษ์' และไม่ต้องค้นคว้าเรื่องพื้นฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นหลักนั่นเอง

บางท่านไปไกลถึงขนาดชี้แนะว่า จารีตประเพณีของแฮ็กเกอร์เป็นแค่ภาพสะท้อนหนึ่งของครรลองของแวดวงวิจัยเท่านั้น และ (โดยส่วนใหญ่) ได้ถูกนำไปใช้โดยแฮ็กเกอร์แต่ละคน ความเห็นนี้อาจจะเกินเลยไปหน่อย เพราะเด็กมัธยมเก่งๆ หลายคนก็ดูเหมือนจะรับเอาจารีตประเพณีของแฮ็กเกอร์ไปใช้เรียบร้อยแล้ว!