ตรงจุดนี้มีเรื่องเป็นไปได้ที่น่าสนใจกว่านั้นอยู่ ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยว่า การที่วงการการศึกษากับวัฒนธรรมแฮ็กเกอร์มีรูปแบบร่วมกัน ไม่น่าจะเป็นเพราะมีความเกี่ยวพันกันโดยกำเนิด แต่น่าจะเป็นเพราะทั้งสองวงการต่างพัฒนาโครงสร้างทางสังคมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสิ่งที่มุ่งจะทำ ภายใต้กฎแห่งธรรมชาติ และการเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับสัญชาตญาณของมนุษย์ คำตัดสินของประวัติศาสตร์ดูเหมือนจะบอกว่า ทุนนิยมแบบตลาดเสรีเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และบางที ด้วยวิธีที่คล้ายกัน วัฒนธรรมการให้ที่อาศัยเกมแห่งชื่อเสียงก็อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการร่วมมือเพื่อสร้าง (และตรวจสอบ!) งานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสูงเช่นกัน
สิ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้ มาจากการศึกษาทางจิตวิทยาจำนวนมาก เกี่ยวกับการส่งผลระหว่างงานศิลปะกับรางวัล [GNU] การศึกษาเหล่านี้ได้รับความสนใจน้อยกว่าที่ควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้เผยแพร่ได้แสดงเจตนาที่จะตีความเกินจริง จนกลายเป็นการโจมตีต่อตลาดเสรีและทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาเหล่านี้ได้บ่งชี้ว่า การให้รางวัลตามแบบเศรษฐศาสตร์ที่ขาดแคลนนั้น แท้ที่จริงแล้วได้ลดผลิตภาพของคนทำงานสร้างสรรค์อย่างโปรแกรมเมอร์ลง
Theresa Amabile นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Brandeis ได้สรุปไว้อย่างรัดกุมเกี่ยวกับผลของการศึกษาในปี 1984 เรื่องแรงกระตุ้นกับรางวัล โดยตั้งข้อสังเกตว่า ``เป็นไปได้ที่งานที่ให้ส่วนแบ่งค่าตอบแทนโดยทั่วไปจะสร้างสรรค์น้อยกว่างานที่มาจากความสนใจล้วนๆ'' Amabile สังเกตต่อไปว่า ``ยิ่งกิจกรรมซับซ้อนเท่าใด ก็จะถูกบั่นทอนด้วยรางวัลภายนอกได้มากเท่านั้น'' ซึ่งน่าสนใจว่าการศึกษานี้บ่งชี้ว่าการจ่ายเงินเดือนระดับเดียว ไม่ได้ลดแรงกระตุ้นลงเลย แต่การจ่ายเป็นรายชิ้นและโบนัสสามารถลดแรงกระตุ้นได้
ดังนั้น จึงอาจเป็นความฉลาดทางเศรษฐกิจที่จะให้โบนัสตอบแทนประสิทธิภาพกับพนักงานปิ้งเบอร์เกอร์หรือขุดท้องร่อง แต่อาจฉลาดกว่าถ้าจะแยกเงินเดือนออกจากประสิทธิภาพในแผนกเขียนโปรแกรม แล้วให้พนักงานเลือกโครงการเอง (เป็นแนวโน้มสองอย่างที่โลกโอเพนซอร์สได้ข้อสรุปตามเหตุผล) อันที่จริงแล้ว ผลการศึกษาเหล่านี้ยังบอกด้วยว่า เวลาเดียวที่สมควรจะให้รางวัลประสิทธิภาพดีในงานเขียนโปรแกรม ก็คือตอนที่โปรแกรมเมอร์มีความกระตือรือร้นมากเสียจนสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีรางวัล!
นักวิจัยคนอื่นในสาขาเดียวกันพร้อมจะชี้ตรงไปที่ประเด็นที่เกาะกุมจิตใจของแฮ็กเกอร์มากๆ เกี่ยวกับความเป็นเอกเทศและการควบคุมความคิดสร้างสรรค์ ``ยิ่งแฮ็กเกอร์รู้สึกว่าสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้จำกัดเท่าไร'' Richard Ryan ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์กล่าว ``ความคิดสร้างสรรค์ของเขาก็จะลดลงมากเท่านั้น''
โดยทั่วไปแล้ว การทำให้เห็นว่างานใดก็ตามเป็นเพียงหนทาง แทนที่จะเป็นเป้าหมายในตัวเอง จะทำให้ขาดแรงกระตุ้น แม้แต่การชนะการแข่งขันกับผู้อื่น หรือการได้ความเคารพจากผู้อื่น ก็สามารถลดแรงกระตุ้นในทำนองเดียวกันนี้ได้ ถ้ามีความรู้สึกว่าชัยชนะเป็นการทำงานเพื่อรางวัล (ซึ่งอาจใช้อธิบายได้ว่า ทำไมวัฒนธรรมจึงห้ามแฮ็กเกอร์แสวงหาหรือกล่าวตู่ความเคารพจากคนอื่น)
ความซับซ้อนในงานบริหารยังไม่จบแค่นั้น การควบคุมการตอบกลับด้วยคำพูด ก็ดูจะทำลายแรงกระตุ้นพอๆ กับการจ่ายค่าตอบแทนเป็นชิ้นงาน Ryan พบว่า พนักงานบริษัทที่หัวหน้าบอกว่า ``ดีแล้ว คุณทำในสิ่งที่ สมควร แล้ว'' นั้น ``ให้แรงจูงใจภายในน้อยกว่าคนที่ได้รับคำตอบที่มีข้อมูลมากนัก''
การให้แรงจูงใจก็ยังเป็นสิ่งที่ฉลาด แต่จะต้องไม่มีอะไรพ่วงท้ายอันจะทำให้มันไม่ได้ผล มีความแตกต่างอย่างมาก (Ryan ตั้งข้อสังเกต) ระหว่างการพูดว่า ``ผมให้รางวัลนี้แก่คุณ เพราะผมเห็นคุณค่าในงานของคุณ'' กับ ``คุณได้รับรางวัลนี้ เพราะคุณสามารถทำได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้'' อย่างแรกนั้นไม่ทำลายแรงกระตุ้น แต่อย่างหลังนั้นทำลายแน่นอน
ด้วยการสังเกตการณ์ทางจิตวิทยาเหล่านี้ เราสามารถระบุกรณีที่กลุ่มพัฒนาโอเพนซอร์สจะมีผลิตผลมากกว่า (โดยเฉพาะในระยะยาว ซึ่งความคิดสร้างสรรค์จะมีความสำคัญมากขึ้นๆ ในฐานะปัจจัยเพิ่มผลิตผล) กลุ่มโปรแกรมเมอร์ซอร์สปิดที่มีขนาดและความเชี่ยวชาญเท่าๆ กัน ที่ได้รับ (การบั่นทอน) แรงกระตุ้นจากรางวัลภายใต้ข้อสมมุติของความขาดแคลน
ข้อสังเกตนี้มองจากมุมมองที่ต่างกันเล็กน้อยจากการคาดเดาใน มหาวิหารและตลาดสด ชี้ว่า ในที่สุดแล้ว วิธีการสร้างซอฟต์แวร์แบบโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ถูกกำหนดไว้แล้วให้พ่ายแพ้ โดยเริ่มตั้งแต่จุดที่ทุนนิยมเริ่มสร้างความมั่งคั่งมากพอที่โปรแกรมเมอร์จะสามารถอยู่ได้ในวัฒนธรรมการให้ในยุคหลังความขาดแคลน
อันที่จริงแล้ว ดูเหมือนว่าสูตรแห่งผลิตภาพสูงสุดของการสร้างซอฟต์แวร์นี้ แทบจะเป็นปริศนาเซ็นทีเดียว ถ้าคุณต้องการจะทำการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คุณต้องเลิกพยายามที่จะ ทำ ให้โปรแกรมเมอร์ทำการผลิต จัดการกับความพออยู่พอกินของพวกเขา ให้พวกเขาได้ใช้สมองเต็มที่ แล้วก็ลืมเรื่องเส้นตายไปเสีย สำหรับผู้จัดการปกติ เรื่องนี้ดูจะเป็นความเคยตัวที่บ้าบอ และจะต้องล่มจมในที่สุด แต่ก็ เป็น สูตรที่วัฒนธรรมโอเพนซอร์สกำลังใช้เพื่อเอาชนะการแข่งขันอยู่ทุกวันนี้